ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.74-33.85 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยจังหวะการรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังเงินดอลลาร์ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน โดยเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์ ตามการปรับเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับ Trump Trades รวมถึงการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งอ่อนค่าทะลุโซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ตามแรงกดดันจากส่วนตัวระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น และความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่นในระยะสั้น หลังพรรค LDP และพรรคพันธมิตร Komeito สูญเสียการครองอำนาจในสภาผู้แทนฯ (Lower House) ในการเลือกตั้งล่าสุด

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น อย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ The Magnificent 7 ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.27%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.41% ตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทว่า ภาพดังกล่าวก็กดดันตลาดหุ้นยุโรป ผ่านการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell -1.4%, BP -1.4% หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงจากช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาราว -5%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.30% โดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงถูกจำกัดลง จากความต้องการถือบอนด์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่ต่างรอจังหวะ “Buy on Dip” ทว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงได้ต่อเนื่องชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ หรือมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -43bps ในปีนี้ และลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกราว -86bps ในปีหน้า ซึ่งน้อยกว่าที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน) เช่น กลับมาเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้มากกว่าหรือใกล้เคียงกับที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ซึ่งเรามองว่า อาจจะต้องเห็นภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงพอสมควร ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรายังคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades และการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด หนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่โซน 2,750-2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของเวียดนาม อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เป็นต้น

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ Alphabet, AMD และ VISA ซึ่งรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นขนาดใหญ่ดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่น ว่าพรรค LDP จะสามารถจับมือกับพรรคอื่นๆ เพื่อรวบรวมที่นั่งจนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้สำเร็จหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจเริ่มชะลอลงบ้าง และเงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ อีกทั้งบรรดาผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้ส่งออก (Exporters) ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์แถวโซน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นต้นไป ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี เรายังคงเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการทยอยอ่อนค่าลงของเงินบาท เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นการเพิ่มสถานะถือครองให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades เรามองว่าในระยะสั้น เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนกว่าความวุ่นวายและไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่นจะลดลงชัดเจน ซึ่งอาจต้องเห็นการเจรจาต่อรองระหว่างพรรค LDP กับพรรคอื่นๆ เพื่อรวมรวบที่นั่งในสภาผู้แทนฯ ให้ได้เสียงข้างมาก อย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างราว +/-0.19% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวได้ นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.90 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)