1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (40 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สุรินทร์ (29 มม.) ภาคกลาง : จ.สุพรรณบุรี (45 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (89 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (20 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (96 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : แนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันออกของภาคเหนือและภาคกลาง ประกอบกับพายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็น และภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 28 – 29 ต.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับพายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง และจะมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 81% ของความจุเก็บกัก (65,594 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 71% (41,398 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแแห่งชาติ ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 23 – 28 ตุลาคม 2567 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดอุทัยธานี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จึงขอให้เฝ้าระวังฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (26 ต.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงช่วงสิ้นเดือน ต.ค. 67 จะมีฝนตกค่อนข้างมากในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จากนั้นปริมาณฝนจะลดลงแต่ยังคงตกต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. 67 ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมของ จ.ภูเก็ต มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ ค่อนข้างมาก รวม 94% ของความจุทั้งหมด โดยกรมชลประทานได้ระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำออกจากอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นย้ำให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ของอ่างฯ แต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมรับมือปัญหาดินโคลนถล่มเนื่องจากฝนตกหนัก ซึ่ง สทนช. ได้คาดการณ์พื้นเสี่ยงดินโคลนถล่มของ จ.ภูเก็ต จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ได้แก่ บริเวณ ต.ราไวย์ กะรน เชิงทะเล และกมลา และกรมทรัพยากรธรณีได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการประสานงานร่วมกับจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดย จ.ภูเก็ต ได้มีการเตรียมความพร้อมในการติดตั้งเครื่องมือและระบบสื่อสารต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 26 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน ผักไห่ บางซ้าย และบางไทร) จ.สุพรรณบุรี (อ.บางปลาม้า สองพี่น้อง และอู่ทอง ) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี บางเลน สามพราน เมืองฯ และกำแพงแสน)