วันที่ 24 ตุลาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับรองร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 11 “เชื่อมโยงวัฒนธรรม สร้างสรรค์อนาคต: เอกภาพบนความหลากหลาย” (Joint Media Statement the 11th Meeting of the ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts “Bridging Cultures, Building Futures: Unity in Diversity”) ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย ร่วมกับคณะรัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ เพื่อเน้นย้ำบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า สำหรับร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญในการเน้นย้ำบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน รวมทั้งระบุถึงความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ 1) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ในฐานะทรัพยากรสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอาเซียน 2) การส่งต่อการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอาเซียนจากนครหลวงเวียงจันทน์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปยังเมืองมะละกาแห่งมาเลเซีย นอกจากนี้ มาเลเซีย ในฐานะประธานการประชุม ยังกำหนดจัดเทศกาลศิลปะอาเซียน (ASEAN Festival of Arts) และโครงการเยาวชนอาเซียนและการอนุรักษ์มรดกที่สืบทอดกันมา: สืบสานรากเหง้าและสร้างสรรค์อนาคต (ASEAN Youth and Heritage: Celebrating Roots and Reimagining the Future Programme) 3) ความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน (พ.ศ. 2559 – 2568) และแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ และ 4) ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาภายใต้แผนงานอาเซียนบวกสาม และยินดีกับความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร และอิตาลี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 11 ผ่านกรอบการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ และ 1 เป้าหมาย” เพื่อแสดงเจตจำนงในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติทางวัฒนธรรมและการบูรณาการความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมในทุกภาคส่วน โดยการกำหนดแนวนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ตระหนักเพียงว่าวัฒนธรรมเป็นมรดกที่แสดงให้เห็นถึงอดีตของประเทศเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นดังปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามัคคีในสังคม รวมถึงความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสอดคล้องกับร่างถ้อยแถลงร่วมฯ “เชื่อมโยงวัฒนธรรม สร้างสรรค์อนาคต: เอกภาพบนความหลากหลาย” นี้
“มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาเซียนเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งและครอบคลุมทุกภาคส่วนในภูมิภาค” รมว.วธ. กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มี Dato’ Sri Tiong King Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซียเป็นประธานการประชุมและรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น) เข้าร่วมการประชุม และมีคณะผู้แทนจากติมอร์-เลสเต และมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะข้าราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมด้วย