กรมพัฒนาฝีมือแรงงานขานรับนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน Upskills และ Reskills ให้แรงงานไทย ตั้งเป้าปี 2568 กว่า 5 ล้านคน
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีภารกิจในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ได้แถลงมอบนโยบาย ประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้แนวคิด “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง” ซึ่งได้เน้นย้ำในการบริหาร และพัฒนากำลังแรงงานของประเทศไทยให้เพียงพอและสมดุลทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการพัฒนาศักยภาพแรงงานทั้งด้าน Upskills และ Reskills เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจว่า Upskills และ Reskills ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ ของดีที่ต้องไม่พลาด และขยายผลและพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงการส่งเสริมให้แรงงานใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่การทำงาน และแรงงานในปัจจุบันได้มีการพัฒนาศักยภาพแรงงาน
นายเดชา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับข้อสั่งการจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยในปี 2568 กรมมีเป้าหมายการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้ง Upskills และ Reskills กว่า 5 ล้านคน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการนำนวัตกรรมในการอบรมรูปแบบใหม่ นั่นคือ การอบรมแบบออนไลน์หรือการจัดทำสื่อการสอนแบบออนไลน์ ที่มุ่งเน้นให้แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบันสามารถเข้ามาพัฒนาทักษะได้ในช่วงเวลาเลิกงาน ผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 13 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับนโยบาย Soft Power โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โครงการยกระดับและพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้แรงงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เช่น สาขาช่างเชื่อม ซึ่งมีความต้องการ ทั้งสถานประกอบกิจการในประเทศและความต้องการในต่างประเทศ และสาขาอื่นๆ ได้ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือทั่วประเทศเพิ่มสาขาอาชีพ ให้ครอบคลุม 129 สาขาที่ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว รวมถึงมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมศักยภาพแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการพัฒนาทักษะให้แก่ลูกจ้างของตนอีกด้วย