จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้อนรับ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และนายกมูลนิธิ สานใจไทย สู่ใจใต้ ในกิจกรรมค่ายประวัติศาสตร์ชาติไทย สานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 43

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2567 เวลา 11:30 น. ณ สํานักบริหารกิจการศาสนาอิสลามประจําจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และนายกมูลนิธิ สานใจไทย สู่ใจใต้ นายอารีย์ วงศ์อารยะ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ โครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดฯ (โดมทอง) ต.ปากกราน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ในกิจกรรมค่ายประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ และประสบการณ์ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรมให้กับเยาวชน เพื่อให้ตระหนักในความเป็นไทย และเกิดแรงบันดาลใจในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับ ครอบครัวอุปถัมภ์ และพัฒนาเป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นเกื้อกูลกัน รวมทั้งประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของครอบครัวอุปถัมภ์ในภาคกลาง เสริมสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับ ครอบครัวของเยาวขนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายเยาวชนมีความเข้มแข็ง และเป็นพลังในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับทางราชการ และภาคีอื่นๆ อันจะนำมาซึ่งการกินดีอยู่ดี และสันติสุขที่ยั่งยืน

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เปิดเผยว่า โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เกิดจากดำริของ ท่านพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งได้รวมพลังทุกภาคส่วน เพื่อร่วมแสดงพลังของแผ่นดิน ในการมอบโอกาสการเรียนรู้ กับสร้าง ทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง เพื่อไปเป็นประสบการณ์ชีวิต โดยผ่านกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่างๆ ให้แก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำขวัญสำคัญที่ท่าน พลเอก เปรมฯ ได้ฝากไว้ให้เราก็คือ “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณ ผุ่นดิน” และ “ความเป็นไทย – ความเป็นธรรม ประโยคแรกมีความหมายที่ชัดเจนในตัวแล้ว จึงขอขยายความประโยคหลังว่า เรื่องความเป็นไทยนั้นเยาวชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะอยู่ที่ใด นับถือศาสนาใด ย่อมร่วมเป็นเจ้าของและเป็นพลเมืองของประเทศไทยและมั่นใจว่าทุกคนรักประเทศนี้เท่าเทียมกัน เราทั้งหลาย ต้องระลึกเสมอว่า ความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความแตกต่าง เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมไทย ที่เราเรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่ประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็ล้วนให้เกียรติและเคารพในความแตกต่างของกัน ส่วนคำว่า ความเป็นธรรม ก็หมายถึงความยุติธรรม ที่ตั้งมั่นบนหลักแห่งเหตุและผลยึดโยงกับความมี “คุณธรรม จริยธรรม” ซึ่งก็เป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ตามหลักของแต่ละศาสนาอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ผู้นับถือศาสนา ที่ต่างกัน ได้ใช้เป็นหลักพิจารณาในการดำเนินชีวิตตลอดจนร่วมกันสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนร่วมชาติร่วมแผ่นดินไทย