สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ต.ค.67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.อุทัยธานี (148 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (134 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (111 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (81 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (64 มม.) ภาคกลาง : ชัยนาท (60 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคกลางตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

คาดการณ์ :.ช่วงวันที่ 23 – 25 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมี
ฝนตกหนักบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,497 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 70% (40,300 ล้าน ลบ.ม.)

3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2567 ลงวันที่ 17 ต.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19-23 ต.ค. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ดังนี้จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สตูล นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่
4. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

4. การให้ความช่วยเหลือ :
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดเชียงราย เร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยในเขต จ.เชียงราย ตามแผนปฏิบัติการ (Quick.Win) ฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จ.เชียงราย แล้วเสร็จเกือบ 100% และยังคงให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการนำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าปฏิบัติการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ สำหรับแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยนั้นจะเน้นไปที่การล้างทำความสะอาดถนนและอาคารบ้านเรือนของประชาชนเป็นหลัก โดยในเขต อ.เมืองฯ นั้น ได้แบ่งพื้นที่การทำงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย และนอกเขต โดยพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีประชาชนได้รับผลกระทบ 82 ครัวเรือน ดำเนินการฟื้นฟูไปแล้ว 72 ครัวเรือน คิดเป็น 88% และพื้นที่นอกเขตเทศบาลนครเชียงราย มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,285 ครัวเรือน ดำเนินการฟื้นฟูแล้วเสร็จครบทั้ง 1,285 ครัวเรือน สำหรับเขตพื้นที่ อ.แม่สาย ได้แบ่งพื้นที่การทำงานออกเป็น 7 โซน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ 4 โซนที่ดำเนินการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนแล้วเสร็จตามที่ได้วางแผนไว้ ยังคงเหลือพื้นที่อีก 3 โซนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ อ.แม่สาย เสร็จแล้ว 97% โดยได้ฟื้นฟูบ้านเรือนไปแล้วกว่า 796 ครัวเรือน จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 819 ครัวเรือน

5. สถานการณ์อุทกภัย: วันที่ 20 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.อุทัยธานี (อ.บ้านไร่) จ.สุพรรณบุรี (อ.บางปลาม้า และสองพี่น้อง)จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ และบางไทร) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี และบางเลน)