สช.-ภาคี จัดเวทีหารือแนวทางการดำเนินงานตาม “มาตรา 5.3 กรอบอนุสัญญา WHO FCTC” ป้องกันการแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย-การดำเนินงานควบคุมยาสูบ พร้อมผลักดัน (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม-จำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับอุตสาหกรรมบุหรี่ สอดคล้องตามมติสมัชชาสุขภาพฯ ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมปรึกษาหารือสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า เรื่องแนวทางการดำเนินงานตาม มาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC โดยมี ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประธานการประชุม
ศ.พญ.สุวรรณา เปิดเผยว่า ตามมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่ได้รับฉันทมติเห็นชอบร่วมกันจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ได้มีสาระสำคัญข้อหนึ่งที่ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ นําแนวปฏิบัติตามมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC มาดำเนินการออกกฎหมาย ระเบียบ หรือแนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันการแทรกแซงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากอุตสาหกรรมยาสูบในทุกระดับ เพื่อให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประสิทธิภาพ
“ประเทศไทยเองได้ร่วมลงนามรับรองตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC นี้มาตั้งแต่ปี 2546 มาถึงวันนี้เรื่องของบริบท ความเข้าใจอะไรต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงการเข้ามาของภัยคุกคามใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสที่เราจะมาร่วมกันทำความเข้าใจ และทำให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในช่วงราวปี 2537 เป็นต้นมา บริษัทธุรกิจบุหรี่ข้ามชาติเริ่มถูกเปิดโปงถึงกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเต้นเพื่อสกัดกั้นมาตรการควบคุมยาสูบ คัดค้านการขึ้นภาษี ขัดขวางกฎหมายต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนบิดเบือนข้อมูลอันตรายของบุหรี่ ฯลฯ จึงทำให้ในปี 2540 ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก มีมติให้ยกร่างอนุสัญญาฯ ดังกล่าวขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ สามารถดำเนินมาตรการควบคุมยาสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะผ่านการรับรองในปี 2546 และมีผลบังคับใช้ในปี 2548 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ตามมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ได้ระบุว่า “สมาชิกประเทศจะต้องไม่ให้ธุรกิจยาสูบหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายควบคุมยาสูบ” โดยมีแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักถึงการแทรกแซงของธุรกิจยาสูบ จำกัดการมีปฏิสัมพันธ์/การพบปะกับธุรกิจยาสูบ ไม่ยอมรับนโยบายหรือกฎหมายที่ร่วมร่างโดยธุรกิจยาสูบ รวมถึงไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ มีส่วนร่วมในกลไกกำหนดนโยบายหรือดำเนินการตามนโยบายควบคุมยาสูบ เป็นต้น
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรา 5.3 ทาง WHO ได้ให้ข้อแนะนำไว้ 8 ประการ เช่น สร้างความตระหนักให้กับทุกฝ่ายในสังคม ปฏิเสธความร่วมมือใดๆ กับอุตสาหกรรมยาสูบในการพัฒนากฎหมายหรือนโยบายการควบคุมยาสูบ กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนสำหรับข้าราชการ พนักงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ ควบคุมกิจกรรมที่อุตสาหกรรมยาสูบอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และเปิดเผยเจตนาที่แท้จริงของกิจกรรมเหล่านี้ รวมถึงไม่ให้ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษใดแก่อุตสาหกรรมยาสูบ เป็นต้น
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่กรอบอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ พบว่ามีประเทศที่นำมาตรการเหล่านี้ไปใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ออสเตรเลีย ออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและครอบคลุมไปยังทุกหน่วยงานรัฐภายในประเทศ, อังกฤษ ล่าสุดมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานของรัฐ พร้อมกำหนดตัวอย่างการรับมือสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ให้เป็นแนวทาง, แคนาดา มีเว็บไซต์ที่เปิดเผยกิจกรรมและรายละเอียดในทุกครั้งที่หน่วยงานของรัฐมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่สู่สาธารณะ เป็นต้น
“ส่วนของประเทศไทย จากที่เคยได้มีการสำรวจในหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ พบว่ายังมีการรับรู้ถึงกลยุทธ์ต่างๆ ที่ธุรกิจบุหรี่ใช้ไม่มากนัก ซึ่งความรู้เท่าทันนี้เองที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้การควบคุมยาสูบทำได้ดีขึ้น เพราะถ้ายิ่งเรารับรู้ถึงกลยุทธ์ที่ธุรกิจเหล่านี้ใช้น้อย เราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อข้ออ้าง ข้อมูลของบริษัท หรือมองธุรกิจในแง่บวกมากขึ้นได้” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ระบุ
ขณะที่ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ นี้ในประเทศไทย ปัจจุบันมีเพียงระเบียบกรมควบคุมโรค ว่าด้วยการติดต่อกับผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2555 และระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2559 เท่านั้น แต่พบว่าระเบียบดังกล่าวอาจมีเนื้อหาสาระที่ยังไม่ครอบคลุมแนวทางตามมาตรา 5.3 และอาจไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักในช่วงที่ผ่านมา
นายไพศาล กล่าวว่า ขณะเดียวกันทั้งสองระเบียบนี้ก็ไม่มีผลบังคับใช้กับส่วนราชการหน่วยงานอื่น เราจึงยังพบเห็นการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในการกำหนดนโยบายและกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้ ดังนั้นข้อเสนอสำคัญจึงเป็นการที่ประเทศไทยควรจะมีการพิจารณา (ร่าง) “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ประกอบการในธุรกิจยาสูบ พ.ศ. …” ที่มีการกำหนดแนวทาง รายละเอียด รวมถึงข้อห้ามต่างๆ ที่ชัดเจนครอบคลุมทุกหน่วยงานเอาไว้ โดยให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคีเพื่อผลักดันต่อไป
สำหรับการประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้ ได้มีการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือถึงประสบการณ์การมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งพบว่าบางหน่วยงานเคยได้รับการติดต่อในลักษณะส่งข้อมูลงานวิจัยมาให้ หรือเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความเห็น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ได้เห็นพ้องร่วมกันถึงการมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับธุรกิจบุหรี่ ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ และภาคีเครือข่าย จะมีการเดินหน้าหารือร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการผลักดัน (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ต่อไป
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งรวมถึงการเห็นชอบ 5 มาตรการสำคัญภายใต้มติดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือการยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกและต้องดำเนินการตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC ซึ่งปัจจุบันมตินี้กำลังอยู่ระหว่างเสนอเข้าวาระการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อที่จะประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายต่อไป