วันที่ 16 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการศึกษาแนวทางความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Kick Off ร่าง “นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ใช้รถ-ใช้ถนน ในเขตเมือง ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้อง Grand AB โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร มุ่งกำหนดให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแบบองค์รวม และกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษาแนวทางและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย เป็นวาระร่วมของประเทศในขณะนี้ สังคมจับตามองควรมีการกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ แนวทางการแก้ไขปัญหา และมาตรฐานความปลอดภัย โดยกำหนดให้มีโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วม เพื่อบูรณาการจัดทำแผนสนับสนุนการ จัดอบรมให้ความรู้ รวมถึงด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีโครงสร้างการที่เน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลด้านความปลอดภัยเชิงป้องกันในการเดินทาง และเสริมสร้างให้เกิดระบบบริหารจัดการถนนอัจฉริยะที่เป็นต้นแบบ และเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ พร้อมทั้งพัฒนาให้เกิดระบบฐานข้อมูล เชื่อมต่อการบูรณาการบนระบบฐานข้อมูล และตรวจสอบสมรรถนะ คน ยานพาหนะ และกฎหมายจราจร ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังเรื่องความปลอดภัยสูงสุดทุกรูปแบบ และเมื่อคณะกรรมการชุดนี้ได้สรุปและรวบรวมข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น จนเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเรียบร้อยแล้ว ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาและมีข้อสั่งการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่ปฏิบัติ ต่อไป
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการส่งเสริม ความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการ ได้รวบรวมข้อมูล ศึกษาแนวทางการลดอุบัติเหตุในปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์นำมาสู่การจัดเวทีชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งเป็นเวทีแรก และยังมีอีก 4 เวทีในระดับภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ภายในเดือน ธันวาคม 2567 จะมีการรวบรวมความคิดเห็นและสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นขอสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวของนำไปปฏิบัติ ต่อไป
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 และเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น และทุกคนในสังคมต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมไม่ประมาท และเข้มงวดกับกฎหมายมากยิ่งขึ้น วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทาง สช. ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และเส้นทางต่อจากการชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวทีแล้ว ก็จะนำมติดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ และเสนอประเด็นเข้าสู่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรับรอง และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณามีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป