สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ต.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (85 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (49 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (44 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (112 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (38 มม.) ภาคใต้ : จ.สตูล (83 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 16–20 ต.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมผ่านภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และทะเลอันดามันตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ต้

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 79% ของความจุเก็บกัก (63,915 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 69% (39,724 ล้าน ลบ.ม.)

3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :

1.สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 13–17 ต.ค. 67 เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก และร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขัง เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2. สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13–24 ต.ค. 67 ด้วยอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม

4. การให้ความช่วยเหลือ : เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือประชาชนชุมชนทวีรัตน์ จ.เชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมรถบรรทุกเครื่องสูบส่งระยะไกลและอุปกรณ์เข้าสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ จนปัจจุบันระดับน้ำได้ลดระดับลงแล้วกว่า 80% แต่ยังมีโคลนเหลวตกค้างอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประเมินสถานการณ์และนำเครื่องจักรเข้าไปขุดตักโคลนอีกครั้ง หากประเมินแล้วพบว่าสามารถนำเครื่องจักรเข้าปฏิบัติการได้ ทาง อบจ.เชียงราย เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลตำบลแม่ยาว จะนำเครื่องจักรเข้าขุดตักและขนย้ายดินโคลนออกจากพื้นที่ จะนำกำลังพลอาสาและทหาร เข้าทำการล้างทำความสะอาดคราบดินโคลนเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าที่พักและใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

5. สถานการณ์น้ำท่วม 14 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม วังทอง และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย กงไกรลาศ คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม และสวรรคโลก) จ.ชัยนาท (อ.เมืองฯ มโนรมย์ สรรพยา และวัดสิงห์ ) จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ พรหมบุรี และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ เดิมบางนางบวช สามชุก บางปลาม้า สองพี่น้อง อู่ทอง และดอนเจดีย์) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนาพระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ และบางไทร) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี บางเลน และกำแพงแสน) จังหวัดที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟู 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) และ จ.เชียงใหม่ (อ.สารภี)