“พิพัฒน์” เดินหน้า เตรียมระดมช่างไฟฟ้าตรวจเช็คระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ช่วยแรงงานที่ถูกน้ำท่วม

รมว.แรงงาน พิพัฒน์ เผยช่วยเหลือพี่น้องแรงงานต่อเนื่อง สั่งการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทีมช่างตรวจเช็คระบบไฟฟ้าภายในอาคาร เตรียมเข้าติดตั้งปลั๊กและเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารให้ใหม่ ฟรีค่าแรง ดำเนินการหลังทำความสะอาดอาคารเรียบร้อย หวังช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนกว่า 5,000 บาทต่อหลังคาเรือน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เมื่อวาน (12 ตุลาคม 2567) ที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ซึ่งในช่วงนี้ได้จัดทำโครงการจ้างงานเร่งด่วน เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในการทำความสะอาดตัวอาคารและบริเวณโดยรอบที่ยังมีดินโคลนทับถมอยู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าพักอาศัยหรือค้าขายได้เป็นปกติ ทั้งนี้พบว่าอาคารบ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปดำเนินการวางแผน และจัดทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร เข้าตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและให้บริการในการติดตั้งและเดินระบบไฟฟ้าให้ใหม่ โดยไม่มีค่าแรง สำหรับวัสดุอุปกรณ์นั้นจะมีบางส่วนที่กรมจัดหาให้ บางส่วนเจ้าของอาคารต้องจัดหามาไว้ หรือกรณีที่มีสถานประกอบกิจการบริจาคให้มา กรมจะได้วางแผนจัดสรรให้บริการประชนต่อไป คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการต่อจากการทำความสะอาดอาคารเรียบร้อย ระยะแรกดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย แล้วทยอยให้บริการในอำเภออื่นต่อไป

ด้านนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย และหน่วยงานของกรมที่อยู่ในพืันที่ใกล้เคียงเตรียมความพร้อมในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในระยะต่อไป ซึ่งปัจจุบันทีมช่างของกรมตั้งจุดบริการซ่อมแซมยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องมือทางการเกษตร ที่กองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 8 บ้านป่ายาง ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 และหลังจากซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จะจัดทีมงานสำรวจความเสียหายของระบบไฟฟ้าภายในอาคาร เพื่อจัดทีมช่างด้านเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารเข้าไปให้บริการในพื้นที่อีกครั้ง

สำหรับหน่วยงานของกรมที่ร่วมลงพื้นที่ให้บริการประชาชนด้านการซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องมืออื่นในการประกอบอาชีพ เป็นทีมช่างจำนวน 60 คน จาก สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ลำพูน น่าน และสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ และร่วมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ คณะวิทยากรและศิษย์เก่าของสถาบันฝีมือแรงงานนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ปัจจุบันมีประชาชนมาใช้บริการซ่อมแซมรถจักรยานยนต์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวม 650 รายการ ส่งมอบไปแล้วกว่า 350 รายการ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ จำนวน 258 คัน ส่งมอบแล้ว จำนวน 120 คัน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 392 เครื่อง ส่งมอบแล้ว จำนวน 50 เครื่อง สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 540,080 บาท ซึ่งหลังจากนี้ประชาชนสามารถนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยส่งซ่อมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด