โรคมะเร็งเต้านมในสตรีไทย

โรคมะเร็ง” เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของหลายประเทศซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างที่นอกจากทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคและสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังส่งผล กระทบต่อครอบครัว สังคม และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมากซึ่งอาจนำมาสู่การเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องใน ตุลาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ขอเชิญชวนหญิงไทยทุกท่าน หมั่นใส่ใจตรวจเต้านมด้วยตนเอง และรับการตรวจโดยแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

นายแพทย์สกานต์  บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ข้อมูลทะเบียนมะเร็ง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่า ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย สาเหตุการเกิดโรคส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การสูบบุหรี่  การดื่มสุรา การรับประทานอาหารไขมันสูง และขาดการออกกำลังกายหรือมีภาวะโรคอ้วน เป็นต้น นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางสาธารณสุขทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น เหล่านี้ส่งผลทำให้มะเร็งเต้านมมีแนวโน้มอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่มากกว่า 20,000 รายต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมประมาณ 4,800 ราย กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย จึงผลักดันนโยบายการคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อให้ผู้หญิงไทยกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้ารับการคัดกรองได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มุ่งเน้นการสอนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการคัดกรองและสอนให้ประชาชนตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast self-examination) หรือให้ประชาชนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปรับการตรวจเต้านมจากบุคลากรทางการแพทย์ (Clinical breast examination) โดยทั้งสองวิธีนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้นเพื่อให้สามารถพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ และยังมีการผลักดันชุดสิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ได้แก่ ชุดสิทธิประโยชน์ในการตรวจหายีน BRCA1/BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัว มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ รวมถึงคนไข้ผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านม หากพบยีน BRCA1/BRCA2 ที่ผิดปกติ สามารถให้ญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก) มาตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ได้ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรค

ในปี พศ.2567 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ “การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์” สำหรับผู้หญิงไทยทุกสิทธิ อายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีญาติสายตรงเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพซึ่งสาขาโรคมะเร็งเป็นสาขาหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาและจัดบริการให้กับประชาชนทุกเขตบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง พร้อมมีการจัดระบบส่งต่อการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบ เพื่อการให้บริการรักษาและการส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างถูกต้องตามมาตรฐานและสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ ด้วยสิทธิประโยชน์รวมถึงระบบบริการสาธารณสุขที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจ มุ่งมั่นดูแลผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ตลอดจนผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างสะดวกและทันท่วงที