กระทรวงสาธารณสุข เผย “น้ำท่วม” เพิ่มอีก 3 จังหวัด “ชัยนาท-บึงกาฬ-สงขลา” เสียชีวิตเพิ่ม 6 ราย พบเด็กวัย 14 ปี เล่นน้ำริมถนนเสียชีวิต ย้ำเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองเฝ้าระวังบุตรหลาน ด้านหน่วยบริการยังต้องปิด 5 แห่ง ขณะที่ “เชียงใหม่” ระดับน้ำเริ่มลด ส่วน “ลำพูน” ให้เฝ้าระวังมวลน้ำก้อนใหญ่ คาดกระทบ 3 โซน อีก 7 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำหลากร่วมน้ำทะเลหนุนสูง ให้เตรียมช่วยเหลือผู้ประสบภัย กลุ่มเปราะบาง
วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 21/2567 โดยกล่าวว่า มีสถานการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 18 จังหวัด โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ใหม่ในจังหวัดชัยนาท บึงกาฬ และสงขลา พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6 ราย ได้แก่ เชียงใหม่ 4 ราย ตาก 1 ราย และพิษณุโลก 1 ราย ซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปี จมน้ำขณะเล่นน้ำริมถนนที่ติดกับทุ่งนา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 66 ราย บาดเจ็บสะสม 2,381 ราย และสูญหาย 1 ราย ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นน้ำเพราะมีความเสี่ยงเกิดอันตรายได้
“หน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 2 แห่ง ที่พระนครศรีอยุธยาและสุโขทัย รวมสะสม 107 แห่ง ยังคงต้องปิดให้บริการ 5 แห่ง อยู่ใน จ.เชียงใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 1 โรงพยาบาลค่ายกาวิละ โรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่ เมโมเรียล และศูนย์สุขภาพชุมชนแม่ท่าช้าง ส่วนอีก 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร ในรอบวันที่ผ่านมาจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 73 ทีม ดูแลประชาชน 1,791 ราย สะสม 213,471 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น 310 ราย สะสม 32,582 ราย ทั้งนี้ ขอให้ช่วยสื่อสารประชาชนโดยเฉพาะคนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยเปลี่ยนเป็นให้การช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9 พันบาทด้วย” นพ.สฤษดิ์เดชกล่าว
นพ.สฤษดิ์เดชกล่าวต่อว่า ขณะนี้ระดับน้ำปิงใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พ้นระยะวิกฤต คงเหลือน้ำท่วมขังใน อ.เมือง อ.สารภี อ.สันป่าตอง และ อ.หางดง เริ่มเตรียมการเข้าสู่ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยที่อาจมีภาวะเครียดสูง ส่วน จ.ลำพูน ระดับน้ำที่ อ.ป่าซาง ลดลงแล้ว แต่ อ.เมือง ยังเพิ่มขึ้น ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะมาจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสูงขึ้นอีก 0.6-0.8 เมตร มีพื้นที่เสี่ยง 3 โซน คือ โซนที่ 1 ต.อุโมงค์ และ ต.เหมืองง่า รับน้ำจากไทวัสดุ ถนนเรียบรางรถไฟ ลงสู่น้ำกวง โซนที่ 2 หมู่บ้านติดน้ำกวง ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอาจล้นเข้าท่วมบ้านเรือน และโซนที่ 3 รับน้ำจากหนองแฝก ลงสู่น้ำปิง โดยให้เฝ้าระวังสถานพยาบาลและจัดทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ป่วย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคาดว่าภายใน 3 วันจะคลี่คลาย สำหรับ จ.สุโขทัย สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย กำลังเข้าสู่ระยะฟื้นฟู โดยโรงพยาบาลสุโขทัยมีน้ำขังเล็กน้อยหน้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยรับบริการได้ตามปกติ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2567 พบว่า ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ฝนจะเริ่มเบาลง เหลือเพียงการจัดการมวลน้ำ ส่วนภาคใต้ ยังคงมีฝนตกหนักทำให้มีความเสี่ยงแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากที่ จ.พังงา (อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง) จ.กระบี่ (อ.ปลายพระยา อ.เมือง) และ จ.ยะลา (อ.เบตง อ.ธารโต อ.กาบัง) และในช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคม 2567 จะมีน้ำทะเลหนุนสูงประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร ใน จ.สมุทรปราการ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม