นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ sideways up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.38-33.50 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทว่า เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันบ้าง หลังราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ยังคงถูกจำกัดอยู่แถวโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าวบ้าง แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวได้ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่โซนแนวต้านถัดไปแถว 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกังวลว่า เฟดอาจคงดอกเบี้ย ณ การประชุมเดือนพฤศจิกายน (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 14% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ย) ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Tesla -3.7%, Amazon -3.1% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -1.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.96%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.18% โดยแม้ว่าบรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรปจะถูกกดดันโดยความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่าความกังวลดังกล่าวยังคงหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ Shell +2.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม China Recovery อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH +2.7% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันจากแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ เช่นกัน ASML -1.3% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 4.00% หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 14% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็มีส่วนหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่นกัน อนึ่ง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และมุมมองของผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ที่ยังคงประเมินแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด (รวมถึงบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ) ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องชัดเจน ซึ่งเราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ หากผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดทั้งในปีนี้ และปีหน้า โดยอาจประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใส/ดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่ได้ชะลอลงชัดเจนนัก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเชื่อว่าเฟดอาจคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงความต้องการถือในช่วงตลาดกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรหรือการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 102.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.3-102.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะถูกกดดันบ้างในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่าราคาทองคำก็ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือทองคำ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาทองคำยังสามารถรีบาวด์ขึ้นบ้างและแกว่งตัวแถวโซน 2,660-2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้
สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีไม่มากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย หลังล่าสุดรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เช่นกัน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว -50bps ในปีนี้
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของเราว่า “ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เงินบาทก็อาจไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องอย่างชัดเจน” นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หรือจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินบาทใกล้โซนแนวต้าน ในการทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินดอลลาร์ หรือ สถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ส่วนฝั่งผู้ส่งออกก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ หลังผู้เล่นในตลาดไม่เพียงแต่ปรับลดความคาดหวังต่อการ “เร่งลดดอกเบี้ย” ของเฟด แต่ล่าสุดยังปรับลดความคาดหวังต่อการ “ลดดอกเบี้ย” ของเฟดลงบ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กดดันบรรดาสกุลเงินหลัก ไม่ว่าจะเงินยูโร (EUR) เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจาก ECB, BOE ส่วน BOJ ก็อาจไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ทว่า เราคงเชื่อว่า ตลาดจะเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility โดยหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงมากกว่าคาด หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงมากขึ้นชัดเจน ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot หรือมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ซึ่งอาจกดดันให้เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงได้
และนอกเหนือจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจพอได้แรงหนุนจากการปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง เรามองว่า เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นและบอนด์ไทยไปกว่า -3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกือบจะใกล้เคียงกับยอดซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยในเดือนกันยายนราว +4 หมื่นบาท
เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.55 บาท/ดอลลาร์