1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.สุโขทัย (26 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (17 มม.) ภาคกลาง : จ.นครปฐม (29 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (33 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (58 มม.) ภาคใต้ : จ.กระบี่ (109 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 9 – 13 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 78% ของความจุเก็บกัก (62,446 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 66% (38,255 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13 – 24 ตุลาคม 2567เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
4. การให้ความช่วยเหลือ : เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ. สุโขทัย เนื่องจากมีฝนตกสะสม ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมและคลองสาขาต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กัดเซาะคันดินพังหลายจุด ส่งผลให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร และไหลเข้าสู่คลองสาขาที่เชื่อมกับคลองแม่รำพัน ประกอบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำยมมีระดับน้ำสูง ทำให้การระบายน้ำจากคลองแม่รำพันลงสู่แม่น้ำยมเป็นไปได้ช้า ซึ่งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก ได้สนับสนุนเครื่องจักรกล รถแบคโฮแขนยาว ในการกำจัดเศษสวะและเปิดทางเบี่ยงน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การระบายน้ำบริเวณสะพานด้านหน้าวิทยาลัยสารพัดช่าง จ. สุโขทัย ไม่คล่องตัว ส่งผลให้มีน้ำไหลท่วมด้านหน้าโรงพยาบาลสุโขทัย ระดับน้ำสูงประมาณ 0.40 ม. ปภ.สุโขทัย จึงเร่งวางกระสอบทรายบริเวณหน้าโรงพยาบาล และวานนี้ (7 ต.ค. 67) ได้นำรถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ออกให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับ – ส่ง จากบริเวณหน้า Big C สุโขทัย ไปยังโรงพยาบาลสุโขทัย เนื่องจากน้ำท่วมบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลและด้านในโรงพยาบาล ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 8 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) จ.เชียงใหม่ (อ.แม่วาง ดอยหล่อ หางดง สันป่าตอง แม่แตง เมืองฯ และสารภี) จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.ลำปาง (อ.เถิน) จ.ตาก (อ.สามเงา และบ้านตาก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ วังทอง พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย และสวรรคโลก) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ และสร้างคอม) จ.ชัยภูมิ (อ.คอนสวรรค์ ซับใหญ่ และจัตุรัส) จ.กาฬสินธุ์ (อ.ยางตลาด ท่าคันโท ฆ้องชัย หนองกุงศรี และสหัสขันธ์) จ.มหาสารคาม (อ.เมืองฯ และกันทรวิชัย) จ.อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ และสว่างวีระวงศ์) จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ พรหมบุรี และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ เดิมบางนางบวช บางปลาม้า สองพี่น้อง ศรีประจันต์ และสามชุก) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาลบางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร) จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี และสามพราน) และ จ.สงขลา (อ.สะบ้าย้อย)