วธ.ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต จัดพิธีส่งเก๊ง (สวดมนต์) ถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชวนประชาชนร่วมงานประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2567 สืบสานตำนาน 199 ปีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 67 เวลา 18.45 น. จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567 โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะ พานพุ่มทอง – พุ่มเงิน และพิธีส่งเก๊ง (สวดมนต์) ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมอ๊ามภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด และประชาชน ร่วมงาน ณ บริเวณเวทีกลางสะพานหิน สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

พิธีเริ่มด้วย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานส่งเก๊ง (สวดมนต์) ได้ถวายเครื่องราชสักการะ (พานพุ่มทอง-ทุ่มเงิน) และเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายความเคารพ และกล่าวคำกล่าวถวายราชสดุดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ. 2567 พร้อมด้วย ข้าราชการ คณะกรรมการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา พ่อค้า และประชาชน ทุกสาขาอาชีพ ได้ชุมนุมโดยพร้อมกัน ณ มณฑลพิธี ด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า “ประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต หรือ “เจียะฉ่าย” เป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ทรงคุณค่า ที่พี่น้องชาวภูเก็ตสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน 199 ปี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีนของทุกปี ซึ่ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ เมื่อ พ.ศ. 2561 ในสาขา แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล  ประเภทงานเทศกาล เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาได้ภาคภูมิใจ เกิดความตระหนัก ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วม สืบสาน รักษา และต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน ประเพณีถือศีลกินผัก ประกอบด้วยพิธีกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของพี่น้องชาวจีน ที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ร่วมกันจัดเป็นประจำทุกปี โดยมีวิถีปฏิบัติทั่วไปได้แก่ การงดเว้นบริโภคเนื้อสัตว์ งดอบายมุขทั้งปวง และถือศีลเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน โดยมีพิธีปฏิบัติต่าง ๆ อาทิ ขบวนแห่และสักการะเทพเจ้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ การประกอบพิธีกรรมตามศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้ากะทู้ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ศาลเจ้าบางเหนียว และศาลเจ้าที่เก่าแก่อื่น ๆ และการบริโภคอาหารที่ทำจากผัก งดบริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาล

ด้าน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความเป็นมาของประเพณีถือศีลกินผัก (เจียะฉ่าย) เกิดขึ้นครั้งแรกในจังหวัดภูเก็ต ประมาณปีพุทธศักราช 2368 ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นระยะเวลายาวนาน จนกลายเป็นงานประเพณีถือศีลกินผักของชาวจังหวัดภูเก็ตตราบจนวันนี้  โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชีประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปีพุทธศักราช 2561 งานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 11 ตุลาคม 2567 ตลอดระยะเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ร่วมพิธีจะต้อง แต่งกายชุดขาว ถือศีล ปฏิบัติธรรม ชำระร่างกาย และทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ถือว่าเป็นการบูชาปวงเทพ และองค์พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ ได้ประทานพรให้ ปวงมนุษย์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ตลอดช่วงเทศกาล

ในส่วนกิจกรรมที่ถือปฏิบัติในประเพณี ประกอบด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้ 1. พิธียกเสาโก่เต๊ง เสาไม้แก่นสูง สวยงาม บริเวณปลายเสาเป็นไม้ไผ่ ใช้ผูกธงและแขวนตะเกียงน้ำมัน 9 ดวงซึ่งเป็นสัญลักษณ์เริ่มงานประเพณีถือศีลกินผัก 2. พิธีเซ้เจ่งอ้ามหยีสี ่ หรือพิธีทำความสะอาดศาลเจ้า 3. พิธีอัญเชิญเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือพระอิศวรเสด็จมาร่วมงานกินผัก 4. พิธีอัญเชิญราชาธิราชเก้าองค์ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีกินผัก 5. พิธีสวดมนต์ 6. พิธีอ่านรายชื่อผู้เข้าร่วมพิธีกินผัก 7. พิธีปล่อยทหารมารักษาบริเวณพิธีงานกินผัก 8. พิธีวางอาณาเขต พิธีกินผักของศาลเจ้า ด้วยยันต์ไม้ไผ่ 9. พิธีเลี้ยงอาหารแก่ทหารและม้าศึกที่มาดูแลรักษาบริเวณกินผักของศาลเจ้า 10. พิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณคณะกรรมการศาลเจ้าที่ล่วงลับไปแล้ว 11. พิธีอัญเชิญผู้ถือบัญชีคนเป็น คนตาย 12. พิธีเสี่ยงทายเพื่อหาบุคคลเพื่อรับใช้งานพิธีกินผักปีต่อไป 13. พิธีอาบน้ำมัน 14. พิธีขึ้นบันไดมีด 15. พิธีกรรมข้ามเจ็ดดาวพื้นพิภพ ชิดแช้เต่ ไปสู่การบวงสรวงเจ็ดดาวสวรรค์ (ชิดแช้เที้ยน) 16. พิธีกรรมบวงสรวงดวงดาว 7 ดวง  17. เฉิ้ยเหี่ยวโห้ยกี่เหลี่ยมหยี่สี่ พิธีกรรมเฉี้ยเหี่ยวโห้ยเหี่ยวเอี๊ยน ไฟและผงธูปศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงวันที่ศาลเจ้ากะทู้เดินทางไปรับเหี่ยวเอี๊ยนเหี่ยวโห้ยจากศาลเจ้าในมณฑลกังไสประเทศจีน มาสู่จังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งแรก 18. อิ๊วเก้งหยี่สี่ พิธีแห่พระของศาลเจ้าต่างๆ รอบเมือง เพื่อโปรดสัตว์ ผ่านเส้นทางรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและจุดประทัดถวาย ขบวนประกอบด้วย ธง เกี้ยว(ไท้เปี๋ย) และตั่วเหลียน  19. โก้ยโห๊ยหยี่สี่ พิธีกรรมลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ตนเองของผู้เข้าประกอบพิธีกินผัก 20. โก้ยห่านหยี่สี่ ประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้เข้าร่วมพิธีกินผัก 21. ส่างหยกหองส่องเต่หยี่สี่ พิธีส่งเสด็จเทพเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือพระอิศวร 22. ส่างกิ้วหองหยี่สี่ พิธีส่งเสด็จราชาธิราชเก้าองค์ 23. เสี่ยโก่เต๊งเตียวหยี่สี่ พิธีเชิญเสาโก่เต๊งลง นำไปเก็บไว้ที่เดิม 24. สิ่วกู๊นสิ้วเอี๋ยหยี่สี่ พิธีกรรมการเรียกทหารที่มารักษาการทั้งหลายกลับที่เดิม ซึ่งพิธีกรรมทั้งหมดเป็นอัตลักษณ์ประเพณีกินผักของศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ตที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

โอกาสนี้ ขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมงานประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2567 จังหวัดภูเก็ต ที่กำหนดจัดระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567  โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ www.phuketvegetarian.com และติดตามข่าวสารทางวัฒนธรรม ได้ทางเว็บไซต์ / เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

#ประเพณีถือศีลกินผัก2567  #199ปีศาลเจ้ากะทู้  #ถือศีลกินเจ  #เทศกาลกินเจ #ภูเก็ต  #ประเพณีวัฒนธรรม  #กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #กระทรวงวัฒนธรรม