เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม Mayfair ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติเรื่องสรุปผลการดำเนินงานโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 (STEM Workforce towards SME ) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงฯ ข้าราชการ และภาคเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและแสดงความยินดีแก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ รวม 228 แห่ง เยี่ยมชมนิทรรศการและบูธแสดงผลงานของสถานประกอบกิจการและวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 12 บูธ โดยบ่ายวันเดียวกันจะมีการบรรยายแนวทางดำเนินงานโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 ประจำปีงบประมาณ 2563
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล กล่าวว่า จากข้อมูลของ สศช. เมื่อปี 2560 พบว่า มีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 2 ล้านราย (2,773,625 ราย) ครอบคลุมการจ้างงาน มากกว่า 10 ล้านคน (10,501,166 คน) คิดเป็นมูลค่าที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ กว่า 5 ล้านล้านบาท (5,212,004 ล้านบาท) ดังนั้น การช่วยเหลือ SME จึงเป็นประเด็นเร่งด่วน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยวิธีคิดวิเคราะห์เชิงระบบ เพื่อค้นหาสาเหตุข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยปี 2562 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมกว่า 300 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเข้าไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ SME กลุ่ม OTOP และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสิ้น 228 แห่ง สามารถพัฒนากำลังแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพจำนวน 15,000 คน คิดเป็นผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 36.48 ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการ เฉลี่ยร้อยละ 46.47 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่า 400 ล้านบาท
รมว.แรงงาน ยังกล่าวต่อไปว่า ทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษากระบวนการผลิตและขั้นตอนในการทำงาน เพื่อหาจุดบกพร่อง หรือกระบวนการที่ส่งผลต่อต้นทุน แล้วนำมาวิเคราะห์หาวิธีการแก้ไข เป็นระยะเวลา 210 วัน พร้อมจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการ ให้มีความรู้ในการวิเคราะห์งาน เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้รวมถึงสามารถนำความรู้ไปขยายผลในการทำงานแผนกอื่นๆ ต่อไปที่มีลักษณะของกระบวนงานที่ใกล้เคียงกันด้วยโครงการนี้ จึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของสถานประกอบกิจการได้ สามารถลดต้นทุน เพิ่มปริมาณการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อให้สามารถจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบกิจการและแก้ไขปัญหาได้จริง มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ พัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงาน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ผลการดําเนินการโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่ผ่านมา 6 ปี (2556 – 2561) สามารถพัฒนาศักยภาพแรงงานได้ 85,482 คน ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่หลากหลาย (Multi Skills) หรือมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต เป็นมูลค่า 5,450 ล้านบาท และสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับสถานประกอบการไทย จํานวน 1,103 แห่ง โดย กพร. ยังมีการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้เป็น “นักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่” เพื่อทำหน้าที่ให้คําปรึกษา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานแก่ผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น รวมทั้งเรียนรู้กระบวนการทํางานของที่ปรึกษาอย่างมืออาชีพอีกด้วย