นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในการมอบนโยบายการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม “22 ปี กระทรวงวัฒนธรรม นำคุณค่า พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ และองค์การมหาชน ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ประธานสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และสภาวัฒนธรรมเขต ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรม ครบรอบปีที่ 22 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งก้าวต่อไปสู่ปีที่ 23 ยังคงมีจุดเน้นในการชู “วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” มุ่งส่งเสริม นำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม มุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีกรอบแนวคิดขับเคลื่อนงาน คือ “4 – 3 – 2 – 1” หรือ “4 นโยบาย – 3 แนวทาง – 2 รูปแบบ – 1 เป้าหมาย” สำหรับ 4 นโยบาย ในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1. ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ 2. เสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม 3. เสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม และ 4. พัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก โดยเน้นการปฏิบัติใน 3 แนวทาง คือ 1. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ อาทิ วัฒนธรรมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมกับการเกษตร วัฒนธรรมกับการแพทย์ ฯลฯ 2. ร่วมมือ โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงาน โปร่งใส ไม่ไซโล และไม่ซ้ำซ้อน และ 3. ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ ประโยชน์ ที่ยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน การบริหารจัดการที่ยั่งยืน และคุณค่าของวัฒนธรรมที่ยั่งยืน
ขณะที่ 2 รูปแบบ คือ 1. การรักษาสิ่งเดิม และ 2.การเพิ่มเติมสิ่งใหม่ อาทิ เร่งขึ้นทะเบียนมรดก ทางวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกและนำทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาต่อยอดทางเศรษฐกิจ การสร้างการยอมรับต่อวัฒนธรรมไทยของผู้คนทั่วโลก ผ่านงานวิเทศด้านวัฒนธรรมและการสนับสนุนการทูตวัฒนธรรม ผลักดันให้วัฒนธรรมไทย “เข้าใจง่าย” “เข้าถึงได้” และ “ได้ใจด้วย” การใช้ทรัพยากรและทุนทางวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมตามความต้องการของตลาด พร้อมทั้งศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค และผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเข้าสู่แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ระดับโลกการสร้างความโดดเด่นและยกระดับคุณค่าและมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยอัตลักษณ์วัฒนธรรม และพัฒนาสู่สินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในตลาดโลก เป็นต้น โดยขับเคลื่อนสู่ 1 เป้าหมาย คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรมใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ เร่งเพิ่ม GDP ด้านวัฒนธรรม ด้านสังคมยั่งยืนเพิ่มจำนวนแรงงานทักษะสูงด้านวัฒนธรรมจาก 9.9 แสนคน สู่ 1.2 ล้านคนและเข้าสู่ระบบวิชาชีพ และการขับเคลื่อนสู่เวทีโลก โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. จะส่งเสริมผลักดันเศรษฐกิจวัฒนธรรม จะใช้ “ทุนทางวัฒนธรรม” ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชุมชน คุณภาพชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน และอาศัย “ระบบนิเวศ” และโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ดี เพื่อเป็นแรงหนุนให้เกิดการนำศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” มาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อส่งเสริม Soft Power ผ่านการยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทย ด้วยการขับเคลื่อนการยกระดับทักษะ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) คู่ขนานไปกับการเพิ่มการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของผู้คน รวมไปถึงการผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรม อาทิ ภาพยนตร์และคอนเทนต์ ศิลปะ แฟชั่น อาหารไทย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังร่วมผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เทศกาลประเพณี ให้ไทยเป็นประเทศแห่งเทศกาลประเพณีในระดับโลกด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายศิลปินทุกสาขา กลุ่มวิชาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จะต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม โดย วธ. ต้องมีทั้งผลงานและผลลัพธ์ที่ชัดเจนตามเป้าหมาย 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการขับเคลื่อนสู่เวทีโลก และต้องมีความคืบหน้าและผลสัมฤทธิ์ภายในห้วงเวลา 12 เดือน เพื่อเร่งขับเคลื่อน วธ.สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ อาทิ วธ. จะร่วมมือกับรัฐบาลเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวยามค่ำคืน และเทศกาลประเพณีระดับโลก ผ่าน World Event อย่างประเพณีลอยกระทง เพื่อสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทุกระดับ และเร่งรัดความคืบหน้าพ.ร.บ. ภาพยนตร์ รวมถึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ พ.ร.บ. เกม ตลอดจนยกระดับทักษะผู้ผลิตและผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม สู่การแข่งขันในระดับโลก พร้อมกับนำความเชื่อ ความศรัทธาในท้องถิ่น นำมาต่อยอดสู่การสร้างรายได้อย่างสร้างสรรค์ ยกระดับวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดให้บริการหอศิลป์แห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย พร้อมทั้งเร่งยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และคอนเทนต์ไทย ไปพร้อมกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสาขาอื่น ๆ และการผลักดันเมืองสร้างสรรค์ เชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล และเน้นปลุกพลังสร้างสรรค์และศักยภาพของคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมและพื้นที่ทางวัฒนธรรมทั่วประเทศ