กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยกระดับทักษะแรงงานและผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรม และภายใต้นิคม 15 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงงานอัจฉริยะยุคใหม่ ขานรับนโยบาย “รมว.พิพัฒน์” เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้ นางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม กับ นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและภายใต้นิคมอุตสาหกรรม 15 แห่งทั่วประเทศ เสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพื่อรองรับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ณ ห้องประชุม A21-1 ชั้น 21 กนอ.สำนักงานใหญ่ ซอยร่วมศิริมิตร ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
นางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังพิธีลงนามว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีภารกิจในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมออนไลน์ จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรความปลอดภัยในโรงงาน และ 2) หลักสูตรโรงงานอัจฉริยะ มีผู้ผ่านการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน โดยหน่วยงานที่จัดฝึกอบรม ได้แก่ หน่วยงานของกรมที่ดำเนินการฝึก ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) และสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Disda) สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายบูรณาการภารกิจร่วมกัน โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาแรงงาน และผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 15 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งยังจะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ รวมถึงจัดฝึกอบรม เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานและพนักงานของผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมในการทำงานกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้แรงงานมีผลิตภาพที่สูงขึ้น โดยกรมจะจัดฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นวิทยากรต้นแบบเกี่ยวกับหลักสูตรเทคนิคการสอนงานและทักษะวิชาชีพ เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนขยายผลการฝึกให้แก่กลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป ทั้งนี้ กรมจะจัดหากลุ่มเป้าหมายในการฝึกอบรม พร้อมทั้งออกวุฒิบัตรรับรองให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ด้วย
“การสร้างโอกาส ส่งเสริมทักษะความรู้ ความชำนาญ ก่อให้เกิดความปลอดภัยและสร้างประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงาน รวมถึง การพัฒนาศักยภาพของแรงงานและผู้ประกอบการไทยให้มีทักษะสูงช่วยเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้นรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป” นางจิรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย