1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (195 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ชัยภูมิ (144 มม.) ภาคกลาง : จ.สุพรรณบุรี (82 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (60 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (69 มม.) ภาคใต้ : จ.สตูล (79 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทยตอนบนจะมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 4 – 6 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ ทำให้บริเวณบริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับ พายุไต้ฝุ่น “KRATHON” บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไต้หวัน ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2–3 ต.ค. 67 พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อของประเทศไทย
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 74% ของความจุเก็บกัก (59,543 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 62% (35,658 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังแม่น้ำกก ช่วงวันที่ 2 – 9 ตุลาคม 2567 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้ฝนตกหนักมากในพื้นที่ต้นน้ำในเขต อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำกก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำกก บริเวณ อ.เมืองเชียงราย เวียงชัย เวียงเชียงรุ้ง แม่จัน ดอยหลวง และเชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 0.5 – 1.0 เมตร
4. สถานการณ์น้ำ/การประชาสัมพันธ์ : เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำอุทกภัยปี 2567 และปี 2554 แตกต่างกัน ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค.)
1 ) ในปี 2567 ช่วงเดือน ก.ย. มีพายุ 1 ลูก (ซูริก) ผ่านเข้าไทย ในขณะที่พายุยางิและพายุไต้ฝุ่นกระท้อนไม่เคลื่อนเข้าไทย ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปี 2554 ที่มีพายุเข้ามาทั้งหมด 5 ลูก
2) ปี 2567.ปริมาณฝนสะสมต้นปีถึง 22 ก.ย. 2567 เท่ากับ 1,253 มม. (สูงกว่าค่าปกติ 2%) แต่ฝน ปี 2554 มีฝนสะสมเฉลี่ยทั้งปี มากกว่าค่าปกติ 24 %
3) ช่องว่างรองรับน้ำได้อีกของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2567 มีปริมาณ 6,560 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2554 ถึง 5,478 ล้าน ลบ.ม.
4) ปริมาณน้ำท่า ปี 2567 ใน 2 สถานีหลักสำคัญ มีน้ำไหลผ่านน้อยกว่าปี 2554 ได้แก่
– สถานี C.2 อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,052 ลบ.ม./วินาที (56% ของความจุ) แต่ปี 2554 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 4,344 ลบ.ม./วินาที (118% ของความจุ)
– เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำ 1,899 ลบ.ม./วินาที (70% ของความจุ) แต่ปี 2554 ระบาย 3,161 ลบ.ม./วินาที (132% ของความจุ)
5) ระดับน้ำทะเลหนุน ณ สถานีกองบัญชาการกองทัพเรือ ปี 2567 มีระดับน้ำคาดการณ์ 1.57 – 1.59 ม. ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 ประมาณ 1 ม.
6) พื้นที่น้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวน 57 จังหวัด ซึ่งคาดว่ากรุงเทพมหานคร จะไม่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำหลาก
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 1 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สรวย เวียงป่าเป้า แม่สาย และแม่ลาว) จ.เชียงใหม่ (อ.สารภี) จ.ลำปาง (อ.แม่พริก และเถิน) จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ และบ้านธิ) จ.อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ) จ.ตาก (อ.สามเงา และบ้านตาก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม วังทอง และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง และสวรรคโลก) จ.หนองคาย (อ.เมืองฯ ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ และโพนพิสัย) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ และสร้างคอม) จ.ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ คอนสวรรค์ และจัตุรัส) จ.มหาสารคาม (อ.เมืองฯ กันทรวิชัย โกสุมพิสัย และเชียงยืน) จ.อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ เขมราฐ โพธิ์ไทร นาตาล โขงเจียม และสว่างวีระวงศ์) จ.อ่างทอง (อ.วิเศษชัยชาญ) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ผักไห่ เสนา และบางไทร)