เลขาธิการฯ อย. มอบนโยบาย 11 ประเด็น ใน 1 ปี ติดปีก อย. ไทย ให้เป็นที่ 1

เลขาธิการฯ อย. คนใหม่ มอบนโยบายสำคัญในปีงบประมาณ 2568 มุ่งยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคปรับปรุงกระบวนการอนุญาตผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล และผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมอบนโยบายการดำเนินงานปีงบประมาณ 2568 ซึ่งครอบคลุม 11 ประเด็นหลักภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อยกระดับการทำงานของ อย. ให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นความเป็น สากล ทันสมัย โปร่งใส ร่วมสร้างความมั่งคั่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้

เป้าประสงค์หลัก : ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค การอนุมัติ อนุญาตที่เป็นมาตรฐาน สากล ทันสมัย โปร่งใส ด้วยการ
(1) ผลักดันให้เกิดระบบการพิจารณาอนุญาตที่เป็นสากล (Good Review Practice) ลดระยะเวลาในการประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพให้รวดเร็วขึ้น มากกว่าร้อยละ 20
(2) จัดทำระบบการติดตามสถานะการขออนุญาตที่คาดการณ์เวลาในการอนุมัติได้อย่างแม่นยำ โดยระบบนี้จะเริ่มใช้ได้อย่างสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม 2567
(3) ปรับปรุงรูปแบบการทำงานโดยเชื่อมโยงและบูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน (End-to-End) เพื่อให้การทำงานครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) สนับสนุนนโยบายลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยลดโรคออกสู่ตลาดมากขึ้น
เป้าประสงค์หลัก : ร่วมสร้างความมั่งคั่ง ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ เศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้วยการ
(5) สร้างระบบการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมสินค้ามูลค่าสูง
(6) ส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากให้ได้มาตรฐาน อย. และส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้
(7) ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้าสู่ธุรกิจเพิ่มขึ้น
เป้าประสงค์หลัก : เป็นการพัฒนาองค์กรสมรรถนะสูง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการ
(8) ขับเคลื่อนองค์กรบนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจน
(9) พัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการพัฒนาองค์กรในอนาคต
(10) พัฒนาองค์ความรู้ สร้างงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค
(11) วางแผนให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพเพียงพอทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน

เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในการดำเนินงานนับจากนี้ อย. พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถผลักดันผลิตภัณฑ์สุขภาพไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลก และสิ่งสำคัญคือ ความปลอดภัยของผู้บริโภค