ARDA คว้ารางวัลผลงานวิจัย Impact สูง ปี 2567 ในมหกรรม TRIUP Fair 2024

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDA ตอกย้ำความสำเร็จองค์กรชั้นนำด้านการสนับสนุนและบริหารงานวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ นำ 2 สุดยอดนวัตกรรม คว้ารางวัลผลงานวิจัย Impact สูงปี 2567 บนเวที TRIUP FAIR 2024 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อยกย่องหน่วยงานสนับสนุนและพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สร้างผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไทย ด้วยการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาภาคการเกษตรและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ขอบคุณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ที่มอบรางวัล “ผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2567 Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2024”  ให้กับ ARDA ซึ่งรางวัลนี้เป็น
บทพิสูจน์ความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของบุคลากรของ ARDA และคณะวิจัย ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสร้างรากฐานทางความรู้และความเข้มแข็งในวิทยาการด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามความท้าทายในยุคปัจจุบันและสามารถนำงานวิจัยมาใช้ได้จริง โดย 2 ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้แก่

  • ระดับ “ยอดเยี่ยม

ผลงาน “ปลดล็อคการใช้พลาสติกรีไซเคิลสัมผัสอาหาร ใส่ใจความปลอดภัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนผลงานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการนำพลาสติก (PET: Polyethylene Terephthalate) มาใช้รีไซเคิลได้ 100% สามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 130,000 ตันต่อปี และที่สำคัญงานวิจัยนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 435 พ.ศ.2565 เรื่อง การกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ทดแทนการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin PET) ส่งผลให้เกิดการปลดล็อคการใช้พลาสติกรีไซเคิลมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหาร นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมด้านอาหารของไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลตลอดจนลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

  • ระดับ ดีเด่น

ผลงาน “การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน RSPO บนฐานการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อย” ผลงานวิจัยที่มุ่งเน้นการผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับโลกในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ที่คลอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างรับผิดชอบต่อชุมชน นับเป็นหนึ่งในแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยสู่เวทีการค้าโลกที่มีการแข่งขันและข้อกีดกันทางการค้าสูง ปัจจุบันงานวิจัยฯ สามารถผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO รวมกว่า 1,453 ราย ซึ่งภายใต้การผลิตตามมาตรฐาน RSPO เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น 0.55 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ผ่านการรับรองได้มากกว่า 114 ล้านบาทต่อปี นับเป็นงานวิจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยให้พร้อมไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ดร.วิชาญฯ กล่าวย้ำว่า ผลงานวิจัยนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นสนับสนุนงานวิจัยที่สอดรับกับแนวโน้มของโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเกษตรกรรมยั่งยืน ดังนั้นการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้การเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังเป็นการช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย”

สำหรับมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม (TRIUP FAIR 2024) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 กันยายน 2567 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างรายไ ด้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป