แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในโอกาสร่วมแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2567 ว่า กรมการแพทย์ได้พัฒนาระบบบริการและเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการดูแลด้านโรคมะเร็ง ซึ่งโรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 140,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 80,000 ราย มะเร็งหลายชนิดสามารถป้องกันได้ รักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งในปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ได้ทำการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งสำคัญให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 1.7 ล้านราย และให้การรักษาไปแล้วกว่า 70,000 ราย โดยเกือบทั้งหมดสามารถใช้สิทธิ์การรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ โรคมะเร็งเต้านม จะพบบ่อยที่สุดในหญิงไทย ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจ X-ray เต้านม หรือที่เรียกว่า mammogram ร่วมกับการตรวจ ultrasound สำหรับหญิงไทยที่อายุ 40 ปีขึ้นไปและมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งกรมการแพทย์ คาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะมีประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองไม่ต่ำกว่า 25,000 ราย และจะช่วยให้ค้นพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกได้ถึง 500-600 ราย
ในส่วนของโรคมะเร็งที่พบบ่อยทั้งชายและหญิง คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถตรวจคัดกรอง ด้วยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนอายุ 50-70 ปี คาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะมีประชาชนได้รับการตรวจกว่า 5 ล้านราย และในรายที่ผิดปกติจะได้รับส่องกล้องลำไส้กว่า 8 หมื่นราย ตรวจพบมะเร็งระยะแรก 1,000 ราย
สำหรับโรคมะเร็ง ประชาชนคนไทยสามารถใช้สิทธิ์การตรวจรักษาได้ทุกสิทธิ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ รพ.ใกล้บ้าน ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
นอกจากนี้กรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขกว่า 30 องค์กร ในการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติขึ้น เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตาย และ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น