สรพ. ผู้แทนจากประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใช้มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ในเวทีการประชุม ISQua’s 40 th International Conference 2024

วันที่ 24 กันยายน 2567 พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ 72 ประเทศในเวทีการประชุม ISQua’s 40th International Conference 2024 ที่ Istanbul Lufti Kirdar Convention & Exhibition Centre (ICEC) ประเทศตุรเคีย โดยที่ประชุมในปีนี้ ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพสมัยใหม่ เพื่อช่วยในเรื่องนี้ จึงมีวิธีการปรับปรุงคุณภาพ (Quality Improvement หรือ QI )

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า การปรับปรุงคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิของประเทศไทยเป็นไปตามทิศทางการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย โดยใช้กลไกการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเป็นเครื่องมือรับการเปลี่ยนแปลงจากการรับรองสถานพยาบาล (Hospital) เป็นการรับรองเครือข่ายสุขภาพ ( Healthcare System ) และเป็นกระจายสู่ชุมชนและสังคม ( Health System) ซึ่งเป็นระบบบริการปฐมภูมิ ทั้งนี้ประเทศไทยได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบบริการปฐมภูมิขอประเทศไทยมาถึง 4 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของการดูแลสุขภาพตนเอง ปี 2533 เป็นยุคของการขยายและเสริมความเข้มแข็งให้กับประชาชน จนปี 2545 ประเทศไทยประกาศสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ควบคู่กับกลไกพัฒนาและรับรองคุณภาพมาตรฐานของสถานพยาบาล ปี 2553 ยุคที่ 3 เป็นยุคของการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานและกระจายอำนาจไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และปี 2563 ถึงปัจจุบันเป็นการบูรณาการ และ Digital Health ซึ่งประเทศไทย โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)ได้พัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ซึ่งเจตนารมย์ของมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิไม่ใช่เพียงเพื่อประเมินรับรอง แต่เพื่อชี้นำทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาของสถานพยาบาลที่ต้องทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานร่วมกัน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใน

การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการประเมินและรับรอง โดยเป้าประสงค์ของการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ประกอบด้วย 4 ประเด็นคือ

1. ผอ.รพสต. และ แกนนำสถานพยาบาลปฐมภูมิ สามารถใช้แนวคิดคุณภาพและนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติ เพื่อการบริหารจัดการและพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ จนสามารถแสดงผลการดำเนินงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับ
2. หน่วยงานกำกับดูแล/สถานพยาบาลเครือข่าย สามารถพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ และ/หรือยกระดับเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองการพัฒนา ได้อย่างครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับ
3. บุคลากรสาธารณสุขและ/หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้อง สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Quality Expert: อาทิ พี่เลี้ยงคุณภาพ, ที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพ, วิทยากร, ผู้เชี่ยวชาญ, ผู้ตรวจประเมิน, ผู้เยี่ยมสำรวจ) ได้อย่างเพียงพอ
4. สถานพยาบาลปฐมภูมิ สามารถเข้าสู่กระบวนการพัฒนา ได้รับการรับรองการพัฒนา และ/หรือการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ได้อย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง สากลยอมรับ เป็นที่พึ่งได้ และประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

ทั้งนี้ มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ของสรพ.ได้พัฒนาตามหลักการที่ ISQua กำหนด ประกอบไปด้วย 5 ตอนคือ ตอนที่ 1 ภาพรวมของการบริหารสถานพยาบาลปฐมภูมิ ตอนที่ 2 ระบบการบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตอนที่ การบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ตอนที่ 4 การสนับสนุนระบบบริการ และตอนที่ 5 ผลลัพธ์การดำเนินการ ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ปฐมภูมิ 5 แห่ง สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างพี่เลี้ยงปฐมภูมิ วิทยากร ผู้ประเมินการพัฒนาและรับรองสถานพยาบาล (Quality Expert) จำนวน 153 คน มี สถานพยาบาลปฐมภูมิ ได้รับการรับรองมาตรฐานบริการปฐมภูมิ ได้รับการรับรองไปแล้ว 62 แห่ง โดยการนำเสนอประสบการณ์ของประเทศไทยในครั้งนี้ได้รับความสนจากผู้เข้าประชุมเป็นอย่างยิ่ง