ชป.แจงการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะทยอยเพิ่มเป็นขั้นบันได ยันระบายไม่เกิน 900 ลบ.ม./วินาที

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีมีผู้ทักท้วงและตั้งข้อสงสัยเรื่องการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาของ กรมชลประทาน ที่มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นทุกชั่วโมง นั้น

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท กรมชลประทาน ได้ชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า การระบายน้ำในลักษณะนี้ได้เริ่มดำเนินการมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว โดยจะทำการเพิ่มอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นแบบขั้นบันได และขอยืนยันว่าจะระบายน้ำลงด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 900 ลบ.ม./วินาที ในขณะนี้ สาเหตุเป็นเพราะพื้นที่ทางตอนบนของ จ.นครสวรรค์ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.สุโขทัย มีปริมาณน้ำมาก จากฝนที่ตกหนักในเขต จ.แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ซึ่งปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกผันไปเก็บในทุ่งบางระกำ และบางส่วนจะระบายลงแม่น้ำน่าน ส่วนที่เหลือจะไหลลงมาที่นครสวรรค์ ซึ่งได้มีการระบายน้ำจากลุ่มน้ำยมเข้า. บึงบอระเพ็ดด้วยแล้ว ทำให้ช่วยหน่วงน้ำได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อปริมาณน้ำดังกล่าวเดินทางมาถึงบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะใช้ระบบชลประทานแบ่งรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าพิ้นที่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ไม่ว่าจะเป็นคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง หรือแม่น้ำน้อย รวมกันประมาณ 550 ลบ.ม./วินาที ส่วนสาเหตุที่ต้องเร่งระบายน้ำออกทางท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องมาจากเป็นช่วงน้ำทะเลไม่หนุน จะทำให้การระบายน้ำออกอ่าวไทยทำได้เร็ว และยืนยันว่าการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะมีเวลาในการเดินทางของน้ำอย่างน้อย 1-2 วัน กว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 บอกอีกว่า วันที่ 4 ก.ย. 62 ได้ลงพื้นที่ พระนครศรีอยุธยา พบกับ นายอนุกุล เรือนแก้ว นายอำเภอเสนา ที่ได้สอบถามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยนายอำเภอเสนา ระบุว่า หากมีการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ 1,000 ลบ.ม./วินาที จะมีน้ำท่วมเขต อ.เสนา แต่ชาวบ้านที่นี่ จะปลูกบ้านใต้ถุนสูง จะมีปัญหาเฉพาะการเข้า-ออก ถนนกับตัวบ้าน และเท่าที่สำรวจริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.ชัยนาท มาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังต่ำกว่าตลิ่งพอสมควร

ทั้งนี้ นายสุรชาติฯ ยืนยันว่า การระบายน้ำในลักษณะนี้ ไม่ใช่เป็นการเร่งให้เกิดโครงการบางบาล-บางไทร อย่างที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด แต่เป็นการระบายน้ำตามที่ได้ดำเนินการมาเป็นปะจำทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้ง การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะต้องสอดคล้องกับน้ำที่สะสมอยู่ที่ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ด้วย จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

ศูนยปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ