เริ่มแล้ว การออกใบอนุญาตและรับรองมาตรฐานปางช้าง กรมปศุสัตว์ระบุ เป็นการยกระดับการเลี้ยง และการจัดสวัสดิภาพช้าง ทั้งยังเป็นการป้องกันการทารุณกรรมช้างตามหลักสากล

อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย กรมปศุสัตว์เปิดให้ผู้ประกอบการปางช้างยื่นคำขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ และขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2564 เพื่อยกระดับการเลี้ยงและการจัดสวัสดิภาพช้าง ตลอดจนเป็นการป้องกันการทารุณกรรมช้างตามหลักสากล ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการปางช้างได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตฯ แล้ว 164 ปาง โดยปางช้างที่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับ ได้แก่ “สถานที่ที่ประกอบกิจการเลี้ยงหรือรวบรวมช้างเพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือประกอบกิจการอื่นที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเก็บค่าดูหรือค่าบริการในทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ก็ตาม”

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เปิดให้ผู้ประกอบการปางช้างดำเนินการขอใบอนุญาตผู้ผลิตฯ และขอรับรองมาตรฐานปางช้าง ตามที่กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานด้านปศุสัตว์และได้รับมอบหมายจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นผู้ออกใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 19 สิงหาคม 2567 สำหรับใบอนุญาตผู้ผลิตฯ และขอรับรองมาตรฐานปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ แก่ผู้ประกอบการปางช้างทั่วประเทศ กรมปศุสัตว์ร่วมกับ มกอช. ได้เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือผู้ประกอบการปางช้างในการเข้าสู่มาตรฐานบังคับ ทั้งเรื่องการอบรมให้ความรู้ด้านมาตรฐาน ข้อกำหนดต่างๆ และการออกหน่วยเคลื่อนที่รับคำขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับแก่ผู้ประกอบการปางช้างทั่วประเทศ

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดมาตรฐานปางช้างบังคับ เป็นการยกระดับการเลี้ยงและการจัด   สวัสดิภาพช้าง ทั้งยังเป็นการป้องกันการทารุณกรรมช้างตามหลักสากล สืบเนื่องจากช้างมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในส่วนเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศ จึงต้องกำหนดมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว บุคลากรในปางช้างและช้าง การจัดการเลี้ยงที่ถูกต้อง การดูแลสวัสดิภาพและสุขภาพช้างให้เหมาะสม การป้องการทารุณกรรมช้าง ตลอดจนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในส่วนของการท่องเที่ยวที่เป็นระบบ ทั้งนี้ การกำหนดปางช้างบังคับเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากผู้ประกอบการปางช้างไม่ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานปางช้างต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท ซึ่งมาตรฐานบังคับดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการเลี้ยงช้างในครัวเรือนและการเลี้ยงช้างไว้ใช้แรงงาน เช่น การชักลาก อย่างไรก็ตาม เจ้าของช้างทุกรายจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ด้วย

กรมปศุสัตว์ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการปางช้างทุกประเภทยื่นขอใบอนุญาตผู้ผลิตฯ และขอรับรองมาตรฐานปางช้างผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ TAS-License ได้ที่ http://tas.acfs.go.th/nsw/ และยื่นคำขอรับรองมาตรฐานปางช้าง ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ที่ปางช้างตั้งอยู่ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3155