ทส. ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน “ธรณี – อุทยานฯ – ป่าไม้ – ทรัพยากรน้ำ” เร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เฝ้าระวัง ป้องกัน ลดความสูญเสียของประชาชน

วันที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 11.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย ระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ เพื่อเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ในการแจ้งเตือนภัยดินโคลนถล่ม เพื่อลดความสูญเสียของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งในระยะเร่งด่วนที่กำลังมีการเฝ้าระวังในขณะนี้ และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศตามแผนที่ธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี

 

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย ครั้งนี้ จะเป็นการประสานและบูรณาการการทำงานร่วมกันภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี ทั้งในด้านข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงบุคลากร ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ ทั้งการออกแบบและกำหนดจุดติดตั้งระบบเครื่องมือให้มีความเชื่อมโยงกัน การออกแบบโครงสร้างและเครื่องมือเตือนภัยและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย และภัยอันเกิดจากทรัพยากรน้ำ การเพิ่มความคล่องตัวในการอำนวยความสะดวกการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่อื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ รวมถึงการร่วมกันดูแลเครื่องมือและสถานีเฝ้าระวัง เพื่อการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันสถานการณ์ การเร่งดำเนินการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในพื้นที่เสี่ยง อาทิ การปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก การสร้างฝาย ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและเครือข่ายให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้ การสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างทันท่วงที การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยแจ้งเตือนและตรวจสอบสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการสำรวจและจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย เส้นทางหนีภัย รองรับการอพยพให้กับประชาชน เพื่อเป็นการวางแผนป้องกันและเฝ้าระวังการแจ้งเตือนภัยในระยะยาว ให้สามารถลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนได้