กสม. ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตร. ขานรับพร้อมยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในสถานที่ควบคุมตัว

วันที่ 18 กันยายน 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่งมอบ “แผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570” ให้แก่ พลตำรวจเอก สราวุฒิ การพานิช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

นางสาวปิติกาญจน์เปิดเผยถึงความเป็นมาในการจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจฯ ว่า หลังจากประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ทำให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทำการใด ๆ อันจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการทรมาน โดยจัดทำระเบียบ คำสั่ง หรือกำหนดแนวปฏิบัติ ตามที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกัน กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำทรมานมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า “สถานีตำรวจ” เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทำทรมาน

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สำนักงาน กสม. จึงได้หารือร่วมกับ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร ตร. เพื่อแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นในชั้นการจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง และการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นธาร ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) ซึ่งจะทำให้เกิดกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism) ที่เรียกว่า NPM และการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการเพื่อป้องกันการทรมานของสหประชาชาติ (Subcommittee on Prevention of Torture: SPT) ซึ่งกลไกทั้ง 2 ระดับนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะมีภารกิจการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันการทรมานในสถานที่ควบคุมตัวต่าง ๆ ในอนาคต

เพื่อแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคี OPCAT และรองรับกลไกการตรวจเยี่ยมสถานที่ที่ลิดรอนเสรีภาพ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 12 กรกฎาคม 2567 ตร. และสำนักงาน กสม. ได้ร่วมกันสำรวจสถานีตำรวจและสถานที่ควบคุมตัวที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ตร. 11 แห่ง ใน 6 จังหวัด 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจปัญหาอุปสรรค และข้อท้าทายต่าง ๆ พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วย สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานส่งกำลังบำรุง และสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมาน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำหรับแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมฯ มี 3 ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยส่งเสริมให้สถานีตำรวจทั่วประเทศดำเนินการอย่างสอดคล้องกับการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม (2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย โดยพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พัฒนาระบบงานและปรับปรุงสภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน และ (3) การเพิ่มประสิทธิผลของการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดยพัฒนาโครงสร้างด้านกายภาพของสถานีตำรวจและเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหาย/ผู้ต้องหา

“หลังจากส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจฯ ให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว กสม. ยังคงกำหนดแผนงานการตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมผลักดันให้มีการบูรณาการแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติของ ตร. ในระดับพื้นที่ ซึ่งหากพบข้อติดขัดประการใด เช่น ด้านงบประมาณ หรือกำลังพล กสม. จะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและรองรับกลไก NPM ในการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานและทำให้เกิดการรับรู้ บทบาทของ ตร. ในด้านสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น” นางสาวปิติกาญจน์ กล่าว

ด้านพลตำรวจเอก สราวุฒิ การพานิช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประกาศเจตนารมณ์การจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม และการขับเคลื่อนแผนฯ สู่การปฏิบัติ สรุปว่า แผนพัฒนาสถานีตำรวจฯ ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกันนี้ ตร. จะนำไปเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติราชการของ ตร. ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันจะสะท้อนให้สังคมตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของ ตร. ในการอำนวยความเป็นธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน