วันที่ 15 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เข้าร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผ่านระบบการประชุมทางไกล VDO Conference เพื่อรับทราบถึงภาพรวมสถานการณ์อุทกภัย การให้ความช่วยเหลือ และแนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมถึง ได้เปิดกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และบูรณาการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนประสานความร่วมมือเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไปให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และเกิดประสิทธิภาพ
ดย นายจตุพร ปลัด ทส. ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จากข้อสั่งการของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้สั่งการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องคน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมป่าไม้ (ปม.) ไปรายงานตัวกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ฟังคำสั่งการจากผู้ว่าการจังหวัด ทั้งนี้ ได้สั่งการในทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว 2) เรื่องเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเฮลิคอปเตอร์ เครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่บูรณาการในทุกจังหวัด ให้อยู่ภายใต้การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด และ 3) การฟื้นฟูหลังน้ำลด ทส. ได้เตรียมการไว้แล้ว เพื่อจัดการเรื่องขยะและปัญหาต่าง ๆ นอกจากนี้ มีศูนย์พักพิงของผู้ประสบภัย และยังมีศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีสัตวแพทย์ประจำอยู่ด้วย โดย ทส. จะดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อคลายความกังวลใจของพี่น้องประชาชน พร้อมให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ เตรียมสนับสนุนข้อมูลให้ War Room กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวบรวมจากทุกหน่วยงานเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้รับทราบทางเดียว เพื่อเป็นการ “เข้าถึง เข้าใจ ไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบข้อสั่งการในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป โดยเน้นย้ำแนวทางการดำเนินงาน สำหรับจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้ 1) เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนและสัตว์เลี้ยงที่ยังติดค้างอยู่ในบ้านเรือน 2) ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้น 3) ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย 4) เร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน 5) พื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เร่งเข้าช่วยเหลือในการทำความสะอาดบ้านเรือน 6) ภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายสำหรับการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระยะเร่งด่วนในห้วงต่อไป คือ 1) ให้หน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนและช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ 2) หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ให้ดำเนินการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ประสบภัยเป็นลำดับแรก 3) เตรียมความพร้อมทรัพยากรทุกด้าน 4) ให้รายงานสถานการณ์ ผลกระทบ และการให้ความช่วยเหลือต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับการประสานความร่วมมือ เพื่อเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เชื่อมโยงวอร์รูม (War Room) ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อร่วมคาดการณ์ ประสานการแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง พร้อมทั้งสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ตรงเป้าหมาย และทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะลดความสูญเสียและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และให้ทุกกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงานตามภารกิจที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกวัน ผ่านช่องทางตามที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนด