ปลัด สธ. เผย น้ำโขงล้นตลิ่ง “หนองคาย” กระทบ 5 อำเภอ เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ รับมือสถานการณ์ พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง 21 ราย

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ระดับน้ำโขงยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง “หนองคาย” น้ำล้นตลิ่ง 1.16 เมตร กระทบพื้นที่เกษตร บ้านเรือนประชาชน 5 อำเภอ ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ สูญหาย หรือเสียชีวิต และยังไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ ประสานหน่วยงานต่างๆ ร่วมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กลุ่มเปราะบางแล้ว 21 ราย และเปิด PHEOC ระดับจังหวัดและทุกอำเภอเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังป้องกันแล้ว

วันที่ 13 กันยายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยบริการต่างๆ ยกระดับมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้น และเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หลังจากที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเตือนจังหวัดริมแม่น้ำโขงรับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 12-16 กันยายน 2567 ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคายว่า ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและน้ำล้นตลิ่งสูง 1.16 เมตร มีพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนริมน้ำโขงได้รับผลกระทบ จำนวน 5 อำเภอ 19 ตำบล 67 หมู่บ้าน ไม่มีรายงานประชาชนได้รับบาดเจ็บ สูญหาย หรือเสียชีวิต รวมถึงยังไม่มีรายงานหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง พบว่า ทั้ง 9 อำเภอของหนองคายมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงรวม 1,812 ราย มีการประสานหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ 5 อำเภอเสี่ยง ได้แก่ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ อำเภอโพนพิสัย อำเภอสังคม และอำเภอศรีเชียงใหม่ รวมทั้งหมด 21 ราย แบ่งเป็น ย้ายไปบ้านญาติ 18 ราย ไปศูนย์พักพิง 1 ราย และไปโรงพยาบาลที่สำรองเตียงรับย้ายผู้ป่วยที่ประสบภัย 2 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี มีโรคสมองเสื่อม ได้เคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลโพนพิสัย ส่วนการเฝ้าระวังป้องกันสถานการณ์นั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณีอุทกภัย พร้อมสั่งการทุกอำเภอในพื้นที่เสี่ยงให้เปิด PHEOC เฝ้าระวังป้องกัน และให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดเตรียมยาและเชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงเฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม และให้การดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัย เพื่อป้องกันภาวะเครียดด้วย