นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ที่มุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลผลิตหรือสินค้าประมงที่มีมูลค่าสูง เป็นนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายให้การเกษตรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี และประเทศไทยพัฒนาสู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก “ปลากระบอกดำ” เป็นปลาทะเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง เนื่องจากเป็นปลาเนื้อขาวที่มีรสชาติดีและนิยมนำมาบริโภคในหลากหลายเมนู ใช้เวลาการเลี้ยงไม่นานก็ได้ขนาดที่ตลาดต้องการและขายได้ราคาดี
กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ครั้งแรกในปี 2536 (โดยนายนิเวศน์ เรืองพานิช อดีตผู้เชี่ยวชาญกรมประมง) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในปริมาณมาก จนกระทั่งเมื่อปี 2561 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ได้เริ่มดำเนินการศึกษาพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลากระบอกดำควบคู่ไปกับการพัฒนาการขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์มาอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง โดยรวบรวมพันธุ์ปลาจากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ในบ่อปูน กระตุ้นฮอร์โมนเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ จนสามารถผลิตลูกพันธุ์ในปริมาณมากได้สำเร็จในปี 2565 และดำเนินการพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการผลิตลูกพันธุ์ปลากระบอกดำเพื่อสนับสนุนและจำหน่ายให้แก่เกษตรกรเป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นที่ 3 สำหรับรูปแบบการเลี้ยงปลากระบอกในบ่อดินของเกษตรกรนั้น จะปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร ที่ระดับความหนาแน่น 20,000-30,000 ตัว/ไร่ เลี้ยงด้วยอาหารปลากินพืชชนิดลอยน้ำหรืออาหารปลาดุก โปรตีนประมาณ 25 % ใช้เวลาการเลี้ยงจนได้ขนาดตลาด (8-12 ตัว/กิโลกรัม) เพียง 8–12 เดือน โดยราคาจำหน่ายปลากระบอกแบบคละเพศมีราคา 180–250 บาทต่อกิโลกรัม และราคาจำหน่ายจะเพิ่มมากขึ้นถ้าปลากระบอกที่เลี้ยงได้ในบ่อดินมีไข่ตามธรรมชาติ
นายนิคม ละอองศิริวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง กล่าวถึงวิธีการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงลูกปลากระบอกดำที่ดำเนินการภายในศูนย์ฯ ตั้งแต่ปี 2561 โดยลูกพันธุ์ที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์ในแต่ละรุ่นจะมีการเลี้ยงด้วยอาหารปลาทะเลวัยอ่อนในช่วงแรก จากนั้นจะค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ด เพื่อให้เกษตรกรที่ซื้อลูกพันธุ์ไปปล่อยในบ่อดิน สามารถให้อาหารเม็ดแก่ลูกปลาได้ทันที โดยปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีศักยภาพในการผลิตและอนุบาลลูกพันธุ์ปลากระบอก ขนาด 2–3 เซนติเมตร เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรรุ่นละ 30,000–50,000 ตัว แต่ละรุ่นใช้ระยะเวลา 2 เดือน และมีแนวโน้มที่จะสามารถผลิตลูกพันธุ์ได้เพิ่มขึ้น โดยกรมประมงได้กำหนดราคาจำหน่ายลูกพันธุ์ปลากระบอกดำขนาด ขนาด 2-3 เซนติเมตร ไว้ที่ 2.50 บาท/ตัว และมีเกษตรกรจากจังหวัดสงขลา พัทลุง และตรัง ให้ความสนใจและซื้อเพื่อนำไปทดลองเลี้ยงแล้วรวม 35,000 ตัว ซึ่งเมื่อเลี้ยงจนถึงขนาดตลาดคาดว่าสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเป็นเงินประมาณ 450,000 บาท ผอ.ศูนย์ฯ กล่าว
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาจากวิธีการเลี้ยง ระยะเวลาการเลี้ยง ราคาขายและต้นทุนการผลิต รวมถึงความต้องการ และความนิยมของผู้บริโภค ความสามารถในการขยายตัวของตลาด การเลี้ยงปลากระบอกดำจึงเป็นสัตว์น้ำทางเลือกให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สัตว์น้ำหลายชนิดกำลังประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ ทั้งนี้ เกษตรกรท่านใดสนใจที่จะเลี้ยงปลากระบอกดำ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทร. 0 7431 1895 หรือ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/nica-songkhla