กรมประมง… มั่นใจอุตสาหกรรมกุ้งไทย มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

“กระแสความยั่งยืน” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และความยั่งยืนของอาหารให้ความสำคัญกับ  “ความปลอดภัยทางอาหาร” “ความยั่งยืนของทรัพยากรและผลกระทบของสิ่งแวดล้อม” ตลอดจน“การปฏิบัติทางด้านแรงงานที่ดี” ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลกตระหนักถึง “ความยั่งยืน”  จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค  และภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการประมงทั้งระบบ ประกอบด้วยการประมง  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูป  ตลอดจนระบบการตรวจสอบย้อนกลับ  เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการที่จะทำให้การพัฒนาการประมงมุ่งไปสู่ความยั่งยืน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจนในการที่ต้อง “คำนึงถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และรักษาสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ทั้งในด้านคุณภาพและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน” เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการส่งเสริมใดๆ ต้องเป็นการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มุ่งไปสู่ “ความยั่งยืน”

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า  “กุ้งทะเล” เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญและสร้างมูลค่าจากการส่งออกและนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย  จากสภาพปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาทั้งข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตด้านโรคระบาด  ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง  แต่อย่างไรก็ตามกรมประมงยังเชื่อมั่นว่า “กุ้งไทย” ยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก และเพื่อให้มั่นใจว่ากิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจะมุ่งไปสู่ “ความยั่งยืน”  ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงได้กำหนดให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม  เพื่อสร้างความมั่นใจในการกำกับดูแลให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีคุณภาพ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภค หรือต่อกิจการของบุคคลอื่น โดยเริ่มจาก

กระบวนการกำหนดพื้นที่เลี้ยง : คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดจะกำหนดเขตพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือกิจการของผู้อื่น และผู้ประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลกับกรมประมง โดยจะต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินอย่างถูกต้องจึงจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ โดยที่ตั้งของฟาร์มจะต้องไม่อยู่ในเขตป่าชายเลนหรือพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของไทย

กระบวนการควบคุมการเพาะเลี้ยง : กรมประมงได้นำหลักการปฏิบัติมาตรฐานทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี หรือ GAP และ มกษ. 7422-2561   สำหรับฟาร์มเพาะและอนุบาลลูกกุ้งทะเล ซึ่งเป็นมาตรฐานแห่งชาติมาใช้เพื่อรับรองมาตรฐานฟาร์มให้กับผู้ประกอบการ โดยมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมทุกขั้นตอนในการปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับฟาร์มผลิตลูกกุ้ง ฟาร์มเลี้ยง การเก็บเกี่ยวผลผลิต จนถึงขั้นตอนการแปรรูป เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

และกรมประมงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งโดยใช้รูปแบบน้ำหมุนเวียนในระบบปิด เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติรวมถึงการปล่อยน้ำทิ้งออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากบ่อเลี้ยงจะถูกบำบัดโดยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ ก่อนหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งได้สนับสนุนการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้น รวมถึงใช้เป็นโพรไบโอติกในการควบคุมเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยาและสารเคมี

กระบวนการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำและการใช้สารเคมีในการเพาะเลี้ยง : จากสภาพปัญหาเรื่อง “โรคสัตว์น้ำ” กรมประมงได้ดำเนินการกิจกรรมตรวจรับรองสถานะปลอดโรคในลูกกุ้งทะเล แบบ Lot by Lot ในทุก Lot การผลิต เพื่อให้เกษตรกรฟาร์มเลี้ยงได้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีและปลอดโรค และมีมาตรการที่เข้มงวดในการสุ่มตรวจปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีแผนการตรวจยาและสารเคมีทั้งในฟาร์มและร้านค้าปัจจัยการผลิต รวมทั้งมีการเฝ้าระวังและติดตามการใช้ยาและสารเคมีในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ

และกระบวนการท้ายสุดคือการใช้แรงงานในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล : กรมประมงร่วมกับทุกภาคส่วนในการที่จะส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวทางการใช้แรงงานที่ดี (GLP) นั่นคือ การปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานอย่างถูกต้อง  ไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส และแรงงานบังคับ

จากกระบวนการที่กล่าวมาจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย” เป็นการเพาะเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยจากยาและสารเคมีตกค้าง  และกุ้งทะเลที่จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต และจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้  “กุ้งไทย” ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งมีผู้เกี่ยวข้องมากมายตั้งแต่ระดับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ส่งออก (From Farm to Table)  ความร่วมมือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกันของทุกภาคส่วน จะเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต อันส่งผลถึงความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดสายการผลิต

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

3 กันยายน 2562