วันพุธที่ 4 กันยายน 2567 เวลา 08.30 น. ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดและการปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” และนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวรายงาน และนางศิริลักษณ์ มีมาก รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชนรับมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2567 กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงานประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา วิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม มูลนิธิ เครือข่ายทำงานด้านเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ้น 170 คน
ภายในงานมีการแบ่งกลุ่มอภิปรายและนำเสนอมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การพัฒนาทักษะทางด้านสังคม : การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแห่งอนาคต สำหรับเด็กและเยาวชน ประเด็นที่ 2 การปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital disruption : การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค Digital disruption อย่างสร้างสรรค์ ประเด็นที่ 3 การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก : การดูแลสุขภาพกายและจิตใจของเด็กและเยาวชน ประเด็นที่ 4 การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน : บทบาทของสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประเด็นที่ 5 การรู้จักสิทธิและหน้าที่ และสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง : สวัสดิการสำหรับเด็กปฐมวัยและแม่ตั้งครรภ์
มติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 16 มีทั้งหมด 9 มติ ดังนี้
มติข้อที่ 1 ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาค บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ร่วมกันดำเนินการ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัยพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษ ที่ 21 กำหนดมาตรการ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลากิจกรรมในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตที่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน และจัดกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการเด็กด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ให้เหมาะสมกับช่วงวัย และส่งเสริมการค้นหาตัวตนของเด็กจนสามารถต่อยอดเป็นความถนัดที่สอดคล้องกับความสนใจหรือจำเป็นในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ละบุคคล รวมถึงให้มีการยืดหยุ่นในการรับเด็กเข้าศึกษา และสามารถต่อยอดพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพแก่เด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงด้วยการจัดหลักสูตรรายวิชา การฝึกอาชีพ และกิจกรรมการศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะประกอบอาชีพ
มติข้อที่ 2 ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมสถาบันการศึกษา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำหรับการจัดกิจกรรมที่เน้นการเสริมสร้างทักษะชีวิตและเป็นพื้นที่พักพิงทางจิตใจแก่เด็กและเยาวชน โดยฝึกประสบการณ์เสริมทักษะพิเศษและค้นหาความถนัดอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน และผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม และสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มติข้อที่ 3 ให้รัฐบาลประกาศ เรื่อง การขับเคลื่อนเพื่อการปรับตัวเด็กและเยาวชนให้เข้ากับยุค Digital Disruption เป็นวาระสำคัญ โดยให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกันวางแผนและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ตามประเด็นดังต่อไปนี้
3.1 กำหนดแนวทาง มาตรการ ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเข้มงวดในการจำกัดการเข้าถึงและควบคุมสื่อสาธารณะที่เป็นภัยและความเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน
3.2 สร้างความร่วมมือในการฝึกอบรม ให้ความรู้และบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการรู้เท่าทันภัยออนไลน์ และการรู้เท่าทันการตลาดออนไลน์ สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และบุคคลแวดล้อมเด็ก ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการป้องกันเชิงรุก และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการฝึกปฏิบัติจริง ผ่านกลไกครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา รวมถึงสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ
3.3 พัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน หรือจัดให้มีชั่วโมงกิจกรรมที่สร้างเสริมประสบการณ์รู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนการกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ทักษะทางดิจิทัล เพื่อสร้างประโยชน์อย่างสร้างสรรค์และการดำรงชีพสำหรับเด็กและเยาวชน
มติข้อที่ 4 ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มนักวิชาชีพ และอาสาสมัครที่เชี่ยวชาญให้เพียงพอ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาครอบครัว นักสร้างสุขครอบครัวในชุมชน และกลไกครูแดร์ (D.A.R.E.) มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพกายและจิตใจของเด็กและเยาวชน
มติข้อที่ 5 ให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับนโยบายคุ้มครองเด็กในชุมชน ในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
มติข้อที่ 6 ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ร่วมกันกำหนดแนวทางและส่งเสริมกิจกรรมการสร้างทักษะและเครื่องมือในการดูแลเด็ก การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและเยาวชนกับคนในครอบครัว บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและเยาวชนด้วยกัน
มติข้อที่ 7 ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ร่วมกันสร้างค่านิยมหลักในการปกป้อง คุ้มครอง จัดการพื้นที่เสี่ยง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในชุมชน สถานประกอบการ และสถาบันการศึกษา เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
มติข้อที่ 8 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลในการเตรียมความพร้อมการสร้างครอบครัว การตัดสินใจมีบุตร และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย การตั้งครรภ์ ตามมาตรฐานการตั้งครรภ์คุณภาพและมาตรฐานเด็กสุขภาพดี (Well Baby) พร้อมทั้งการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ของทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เช่น ระบบฝากครรภ์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดบริการนอกเวลา การจัดสวัสดิการเงินขวัญถุงสำหรับแม่ตั้งครรภ์ การเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด และการจัดสวัสดิการสำหรับเด็กที่สูญเสียพ่อแม่หรือพ่อแม่ไม่พร้อมเลี้ยงดู เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมให้มีบุตรอย่างมีคุณภาพ
มติข้อที่ 9 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญให้สามารถบูรณาการงานและจัดบริการตามสิทธิ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและร่วมกันกำหนดแนวทางระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการเลี้ยงดูและดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ เช่น ส่งเสริมทักษะการเลี้ยงดู ปกป้อง คุ้มครอง และพัฒนาศักยภาพบุตร
กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับเครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน รวมถึงได้ข้อมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพและทักษะที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และนำข้อมติสมัชชาฯ เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน เพื่อให้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาฯ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อน ผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพต่อไป