รมว.พิพัฒน์ ชูยกระดับทักษะฝีมือท่องเที่ยวมูลค่าสูง หนุนไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมไมซ์

วันที่ 5 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์สู่การรองรับการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ระดับนานาชาติ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในการยกระดับศักยภาพและสมรรถนะแรงงานไทยเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง” โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานร่วมเป็นเกียรติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ นายสมนึก พรมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ ณ เวทีกิจกรรมหลัก ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานนี้ ด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริการและอัธยาศัยของคนไทย การบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม MICE และการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย จะกลายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะฝีมือ จึงเป็นภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในการผลิตกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถป้อนสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดแนวทางในการพัฒนาแรงงานในครอบคลุมทุกๆ ด้าน อาทิ ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน โดยล่าสุดกรมฯ ได้สร้างความร่วมมือกับสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมโรงแรมไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ในการพัฒนามาตรฐานบุคลากรในอุตสาหกรรม MICE ดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและหนังสือรับรอง เพื่อให้ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่า One Platform for Skill Development เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งเสริมให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการ มีการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่พนักงานของตนเอง โดยรับสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 แนวทางเหล่านี้จะเป็นการยกระดับศักยภาพแรงงานสูงขึ้นรองรับการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เป็นการวางรากฐานสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม MICE และการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพระดับภูมิภาค ซึ่งจังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดหนึ่งที่ควรจะมีการส่งเสริมในการพัฒนากำลังคนสาขานี้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นการมีกำลังแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม MICE จะช่วยต่อยอดในการเป็นศูนย์กลางในระดับภาค ระดับประเทศ หรือภูมิภาคได้เป็นอย่างดี” รมว.พิพัฒน์ กล่าว