กอปภ.ก. เน้นย้ำมาตรการรับมือผลกระทบพายุ “คาจิกิ” สั่งการศูนย์ ปภ. เขต และจังหวัดเสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานหน่วยปฏิบัติในพื้นที่รับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ในช่วงวันที่ 3 – 4 ก.ย. 62 โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดเสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมกำลังทรัพยากรทั้งชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยจากทางราชการ

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า พายุโซนร้อน “คาจิกิ” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองเว้ ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ซึ่งพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงใต้อย่างช้าๆ ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่และฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในช่วงวันที่ 3 – 4 กันยายน 2562 ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงคลื่นสูง 2 – 3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เพื่อให้การเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กอปภ.ก โดย ปภ. ได้กำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ประกอบด้วย

พื้นที่ติดตามผลกระทบจากฝนตกหนัก แยกเป็น ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม นครนายก รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่ติดตามน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี

พื้นที่ติดตามน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ประกอบด้วย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา

พื้นที่ติดตามสถานการณ์คลื่นลมแรง แยกเป็น ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

โดยได้กำชับให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการระดมกำลังทรัพยากร ชุดเคลื่อนที่เร็ว และเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที นอกจากนี้ ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือขนาดเล็ก รวมถึงให้ผู้ควบคุมเรือตรวจสอบความพร้อมของตัวเรือ เครื่องยนต์ จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ของประเทศติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด โดยติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของราชการ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป