การค้าชายแดนและผ่านแดน ก.ค. 67 ขยายตัวต่อเนื่อง +21.7% รวม 7 เดือนแรก ขยายตัว 5.9% วางแผนต่อยอดความสำเร็จโครงการ “มหกรรมการค้าชายแดน” ต่อในปี 2568

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 158,101 ล้านบาท ขยายตัว 21.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการส่งออก 87,089 ล้านบาท (+15.5%) และการนำเข้า 71,011 ล้านบาท (+30.2%) โดยไทยได้ดุลการค้า 16,078 ล้านบาท ทำให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,070,384 ล้านบาท (+5.9%) เป็นการส่งออก 621,405 ล้านบาท (+4.7%) และการนำเข้า 448,979 ล้านบาท (+7.7%) โดยไทยได้ดุลการค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ทั้งสิ้น 172,427 ล้านบาท

การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 82,748 ล้านบาท (+14.4%) เป็นการส่งออก 50,631 ล้านบาท (+12.2%) การนำเข้า 32,117 ล้านบาท (+18.0%) และไทยได้ดุลการค้า 18,514 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับมาเลเซีย มีมูลค่าสูงสุด 30,228 ล้านบาท (+32.9%) รองลงมา คือ สปป.ลาว 21,941 ล้านบาท (+12.3%) เมียนมา 15,721 ล้านบาท (-14.0%) และกัมพูชา 14,859 ล้านบาท (+26.2%) ซึ่งสินค้าส่งออกชายแดนสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้แก่ น้ำมันดีเซล 2,870 ล้านบาท ส่วนประกอบเครี่องโทรสารและโทรศัพท์ 2,099 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 1,464 ล้านบาท ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การค้าชายแดนมีมูลค่าการค้ารวม 576,218 ล้านบาท (+4.2%) เป็นการส่งออก 356,083 ล้านบาท (+2.86%) การนำเข้า 220,136 ล้านบาท (+6.4%) และไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 135,947 ล้านบาท

ด้านการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 75,353 ล้านบาท (+30.7%) เป็นการส่งออก 36,459 ล้านบาท (+20.3%) และการนำเข้า 38,894 ล้านบาท (+42.3%) โดยการค้าผ่านแดนไปจีน มีมูลค่าสูงที่สุด 43,734 ล้านบาท (+24.6%) รองลงมาคือ สิงคโปร์ และเวียดนาม มีมูลค่า 8,515 ล้านบาท (+29.8%) และ 7,470 ล้านบาท (+31.1%) ตามลำดับ ซึ่งสินค้าส่งออกผ่านแดนสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้แก่ ทุเรียนสด 9,740 ล้านบาท ยางแท่ง TSNR 4,072 ล้านบาท และฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 3,184 ล้านบาท ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การค้าผ่านแดนมีมูลค่าการค้ารวม 494,166 ล้านบาท (+8.0%) เป็นการส่งออก 265,323 ล้านบาท (+7.2%) การนำเข้า 228,843 ล้านบาท (+9.0%) และไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 36,480 ล้านบาท

 

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเผยว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยการส่งออกชายแดนและผ่านแดนขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรกรรม (เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง) +24.6% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำมันปาล์ม) +4.4% สินค้าอุตสาหกรรม (เช่น ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และแล็ปท็อป) +15.9% และสินค้าพลังงาน (เช่น น้ำมันดีเซล และน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ) +3.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ยังมีอยู่สูง รวมถึงความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เช่น น้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และไม้ยางพาราแปรรูป ขยายตัวสูงในตลาดมาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2567 ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนการยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดนและระบบขนส่ง/โลจิสติกส์ การส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ ตลอดจนการดำเนินโครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ “มหกรรมการค้าชายแดน” จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ จ.มุกดาหาร (28 ก.พ. – 3 มี.ค. 67) จ.กาญจนบุรี (26 – 30 มิ.ย. 67) และล่าสุดที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 15 – 18 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนชายแดนและผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งอำนวยความสะดวกทางการค้าและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการผลักดันและส่งเสริมการค้าชายแดน โดยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ มีแผนจะดำเนินโครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ ในการเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำไปสู่การบรรลุผลการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่อไป