วธ.เปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สอนศิลป์ ถิ่นกวี” มุ่งสืบสานมรดกภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมไทย ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567   นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “สอนศิลป์ ถิ่นกวี ขับกล่อมดนตรีพื้นบ้าน ร่วมสานงานศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศิลปะและดนตรีพื้นบ้าน ให้แก่คนรุ่นใหม่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ในการกล่าวเปิดงาน นายประสพ เรียงเงิน  ได้กล่าวชื่นชมการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป และการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการจัดงานและการสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน

จากนั้น นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวขอบคุณอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “สอนศิลป์ ถิ่นกวี ขับกล่อมดนตรีพื้นบ้าน ร่วมสานงานศิลปวัฒนธรรม” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา จำนวน 17 ท่านผนึกกำลังในการดำเนินโครงการนี้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินแห่งชาติและศิลปินอื่นๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วมผ่านการเรียนรู้ใน 14 ฐานศิลปะ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายแขนง ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณศิลป์ และการแสดง  อาทิ เทคนิคจิตรกรรมและสื่อผสม เทคนิคสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ เทคนิคประติมากรรม  การสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) การสร้างงานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (เพลงโคราช) การสร้างงานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (ดนตรีพื้นบ้านและการสร้างงานศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย  เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติอีก 39 ชิ้น โดยหวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับแรงบันดาลใจและร่วมกันสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินร่วมสมัย และครูศิลปะ อาทิ ดร. กมล ทัศนาญชลี  ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม)

นายวรนันทน์  ชัชวาล ทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย)  นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงโคราช)  นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสำกล – ขับร้อง) นายเดช นานกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปั้นดินเผาร่วมสมัยคนด่านเกวียนที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการต่อยอดภูมิปัญญา และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ยั่งยืนแก่ประเทศชาติ

……………………………………………