อย. จับมือ PMDA ญี่ปุ่น เสริมสร้างความร่วมมือด้านกฎระเบียบของเอเชีย

อย. ร่วมกับ PMDA Asia Office ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบของเอเชีย เสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลในเอเชีย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ทั้งยังเป็นการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ H.E.Prof TAKEMI Keizo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ในงาน International Symposium for Asia Regulatory Coordination ~ Memoriam for Establishment of PMDA Asia Office ในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการประสานและบูรณาการด้านกฎระเบียบ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของอาเซียนผ่านการสื่อสารโดยตรงกับสำนักงานหน่วยงานกำกับดูแลยาของประเทศญี่ปุ่น (PMDA)

ทั้งนี้ การจัดตั้งสำนักงานหน่วยงานกำกับดูแลยาของประเทศญี่ปุ่น (PMDA) แห่งแรกในเอเชีย ณ กรุงเทพฯ แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในการส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยความเป็นผู้นำของ PMDA ในด้านยา และเครื่องมือแพทย์ ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ซึ่งสำนักงาน PMDA สาขาใหม่นี้ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ที่เติบโตของ PMDA กับ อย. เท่านั้น แต่ยังเป็นอนาคตร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียน และญี่ปุ่น ในการปรับปรุงมาตรฐานกฎระเบียบและการส่งเสริมนวัตกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศญี่ปุ่นยังได้ประกาศขั้นตอนการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพระดับโลก โดยมุ่งเป้าไปที่การบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต่าง ๆ ของเอเชีย และมุ่งเน้นการทำงานทางการแพทย์ร่วมกับต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเกิดการวิจัยยาทางคลินิก มีการพัฒนายาใหม่ รวมถึงการคิดค้นเครื่องมือแพทย์นวัตกรรม พร้อมเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร เพื่อทำให้มั่นใจว่าผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว

การประชุมครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาขีดความสามารถของ อย. และหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการทดลองทางคลินิกในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการขยายโอกาสให้ประเทศไทยและภูมิภาคนี้กลายเป็นศูนย์กลางการทดลองทางคลินิก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายาและเครื่องมือแพทย์ใหม่ อันเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพในอนาคต