อย. เข้ม มาตรการตรวจสอบผักและผลไม้นำเข้า พร้อมเจรจาประเทศต้นทางนำเข้า

อย. ผลักดันโยบายเฝ้าระวัง กำกับดูแล ผักผลไม้ นำเข้าอย่างเข้มงวดตามมาตรการ Hold test release เพื่อสกัดกั้นการกักผลไม้นำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ห้ามเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยเด็ดขาด พร้อมแนวคิด 1DAAN/1LAB/1DAY บริหารจัดการด้านโลจิสติกส์การส่งตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์ผ่านห้องปฏิบัติการทราบผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่การเจรจาการค้าร่วมภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ นำไปทดสอบอย่างง่ายที่ห้องปฏิบัติการประจำ ด่านอาหารทั่วประเทศกว่า 15,400 ตัวอย่าง และมีการดำเนินคดีกับผู้นำเข้ากว่า 200 ราย จากข้อมูลดังกล่าวพบมีผัก ผลไม้นำเข้ามาในประเทศ พบการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชใน ผัก ผลไม้ ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ห่วงใยต่อกรณีดังกล่าว โดยให้ความสำคัญและความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้บริโภค ดังนั้น ในปี 2568 อย. จึงได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยของผักและผลไม้ทั้งที่นำเข้าและปลูกในประเทศ กล่าวคือ ผักและผลไม้นำเข้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพของ การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ การใช้มาตรการ Hold Test Release (HTR) กักหรืออายัดผักและผลไม้เพื่อทำการทดสอบ หากพบเป็นไปตามข้อกำหนดจะอนุญาตให้ไปจำหน่ายได้ พร้อมกับแนวคิด 1DAAN/1LAB/1DAY โดยบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของการส่งตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการเจรจาระหว่างประเทศคู่ค้าที่ส่งออกผักและผลไม้มายังประเทศไทยในการไปตรวจดูมาตรฐานของโรงคัดบรรจุและแหล่งผลิตเพื่อแก้ไขคุณภาพก่อนการนำเข้า ส่งเสริมให้ผู้นำเข้าตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ก่อนการนำเข้ากับห้องปฏิบัติการในประเทศต้นทางที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และจัดหาชุดทดสอบอย่างง่ายที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการพัฒนาสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ย้ำเตือนผู้บริโภคก่อนการบริโภคผัก ผลไม้ทุกครั้ง แช่ในน้ำสะอาดประมาณ 10 นาทีและล้างผ่านน้ำไหล จะช่วยลดปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ ทั้งนี้ อย.อยากจะเชิญชวนให้ผู้ประกอบการตลาดสดควรที่จะจัดโซนจำหน่ายผักและผลไม้ปลอดภัย และแสดงป้ายบอกให้ชัดเจนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค อย. พร้อมดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการบริโภคผักและผลไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่นๆ อีกด้วย หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ