หลังจากแคมเปญคลิปหนังสั้นจากโครงการรวมพลังหาร 2 “ยิ่งใช้ร่วมกัน ยิ่งประหยัดชัวร์” โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ปล่อยออกสู่โลกโซเชียลทำให้เกิดปรากฏการณ์ยอดวิวบนยูทูปภายใน 24 ชั่วโมง มีผู้รับชมสูงกว่า 2.5 ล้านวิว และล่าสุดกระแสตอบรับดีจนยอดทะลุกว่า 6 ล้านวิวไปแล้ว ทุบสถิติยอดรับชมมากที่สุดเมื่อเทียบกับแคมเปญรณรงค์ของ สนพ. และหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่สำหรับโครงการรณรงค์ประหยัดพลังงาน
คลิปหนังสั้นรวมพลังหาร 2 “ยิ่งใช้ร่วมกัน ยิ่งประหยัดชัวร์” เป็นการดึงเอาพฤติกรรมของคนในสังคมออกมาตีแผ่ เพื่อให้เกิดการฉุกคิดถึงประเด็นเกี่ยวกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันที่ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพราะพฤติกรรมที่อยู่ในคลิปหนังสั้นเป็นพฤติกรรมที่เกิด จากชีวิตดิจิทัลของคนในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดกระแสการพูดต่อกันออกไป นอกจากกระแสที่เกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมานั่นก็คือการตั้งคำถามต่อที่เกิดขึ้นและการตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตสำนึกในการใช้พลังงานร่วมกันว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงไรและทางออกในการจะใช้พลังงานร่วมกันจะสามารถทำได้จริงหรือไม่อย่างไร
หลายๆ คนอาจจะพอเคยได้ยินคำว่า ‘Sharing Economy’ หรือเศรษฐกิจแบ่งปันผ่านหูกันมาบ้างแต่ถ้าใครได้ติดตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกก็จะทราบว่าเศรษฐกิจแบ่งปันถือเป็นเทรนด์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ที่หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น
Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปันคือธุรกิจที่ให้ผู้คนนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาทำให้เกิดมูลค่าและเกิดการแบ่งปัน โดยจะมีผู้ประกอบการซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างเจ้าของทรัพยากรและผู้ใช้บริการซึ่ง Sharing Economy นี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันเพราะเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่สร้างประโยชน์ให้แก่ทุกๆ ฝ่าย โดยมีพื้นฐานคือการนำทรัพยากรที่มีอยู่ออกมาใช้ร่วมกันและเกิดการประหยัดมากขึ้นนั่นเอง
ในปัจจุบันกระแส Sharing Economy เริ่มแพร่ขยายมากขึ้น หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดการบริโภคซ้ำซ้อนแล้วยังช่วยทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและทำให้เกิดการต่อยอดจากการแบ่งปันที่พัก การแบ่งปันยานพาหนะ ไปสู่การแบ่งปันอาหาร อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์การเกษตร ไปจนถึงการแบ่งปันความบันเทิง
ในประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มพัฒนา Sharing Economy จากโครงสร้างเล็กๆ จนปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มธุรกิจ ‘GaiaX’ ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นให้ความสำคัญกับทุกคนให้สามารถติดต่อเชื่อมโยงกันได้ผ่านเทคโนโลยีบริษัทมีบริการด้าน Social Media Solution ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับ Sharing Economy โดยเฉพาะ
ประเทศจีนก็ถือเป็นอีกหนึ่งผู้นำด้าน Sharing Economy ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งกับธุรกิจ Bike Sharing ที่สามารถขยายธุรกิจ และสร้างความนิยมได้ทั้งในเอเชีย และในยุโรป ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้กระแสการใช้ร่วมกันได้รับความนิยมมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการลดใช้พลังงานได้อย่างเห็นผล
เกาหลีใต้นอกจากจะเป็นผู้นำเทรนด์ และแนวคิดสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบ และแฟชั่นแล้ว ก็ยังเป็นผู้นำสังคมแบ่งปันจนสามารถผลักดันให้กรุงโซล กลายเป็น Sharing City อย่างเต็มรูปแบบโดยการสนับสนุนจากภาครัฐ พร้อมด้วยธุรกิจ Sharing Economy ที่หลากหลายกว่า 97 รูปแบบ
ส่วนประชาชนในออสเตรเลียก็เริ่มหันมาใช้ sharing economy ในการเพิ่มรายรับมากขึ้นจากงานประจำ ทำให้โมเดลธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้ง Sharing Economy ยอดนิยมอย่างบริการแชร์ยานพาหนะ บริการแชร์ที่พักอาศัย ไปจนถึงบริการแชร์ที่จอดรถ ปัจจุบันมีธุรกิจ Sharing Economy ทีก่อตั้งโดยชาวออสเตรเลียแล้วมากกว่า 25 ธุรกิจ
ฟากฝั่งยุโรป Sharing Economy ก็เป็นกระแสหลักที่ได้รับความสนใจทั้งในประเทศอังกฤษที่มีธุรกิจ Sharing Economy เกิดใหม่กว่า 50 รูปแบบจนเกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจที่รวบรวมบริการ Sharing Economy ผ่านเว็บไซต์ www.sharingeconomyuk.com แนวโน้มในการเติบโตของโมเดลธุรกิจนี้ในอังกฤษคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 1 ล้าน 4 แสนล้านปอนด์ (ประมาณ หกสิบล้านสองแสนล้านบาท)
ประเทศไทยเองก็เริ่มเห็นโมเดลธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy มากขึ้นตามกระแสความนิยมโลก ทั้งธุรกิจการให้บริการด้านการจัดการที่จอดรถการขนส่งทั้งรถโดยสารและการขนส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน การจัดการพื้นที่สำนักงานและห้องประชุมถือว่าเป็นแนวทางและสัญญาณที่ดีในการหันมาใช้ร่วมกันของคนในสังคมไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานแล้วสิ่งที่ตามมาคือช่วยลดใช้พลังงานหันมาใช้กันแบ่งปันทรัพยากรหรือต้นทุนด้านพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อีกด้วย
สามารถติดตามกิจกรรม และสาระดีๆ ของ “โครงการรวมพลังหาร 2” ได้ทุกช่องทางทั้ง website : www.eppohan2.com, Facebook Page : www.facebook.com/eppohan2, Instagram : Instagram/eppohan2 และ Youtube : eppohan2