นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้จับมือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ ผ่านการวิจัยแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเสนอแนวทางการจัดการหลังการใช้งาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงพลวัตรของสภาพแวดล้อมในประเทศและบริบทของโลก โดยได้ลงนามความร่วมมือกันในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)“ ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า หลอดดูดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัตว์น้ำที่กลืนกินเข้าไป คพ. จึงมีแผนลดและเลิกใช้หลอดพลาสติกตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก แม้ว่าจะสามารถลดการใช้หลอดพลาสติกลงได้ 33% แต่ยังมีปัญหาเรื่องการรีไซเคิลหลอดพลาสติก เนื่องจากต้นทุนสูงและกระบวนการที่ซับซ้อน แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) จึงมุ่งเน้นไปที่การออกแบบการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องกำจัด และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับผู้นำไปจำหน่ายและผู้ซื้อนำไปใช้งาน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกตาม Roadmap ที่กำหนดไว้
ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านการพัฒนาการผลิตหลอดจากพลาสติกชีวภาพเชิงพาณิชย์ ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย หลอดพลาสติกชีวภาพที่พัฒนาขึ้นไม่เพียงแต่ลดปริมาณขยะพลาสติกและมลพิษเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ นางสาวปรีญาพร กล่าว