วันที่ 28 สิงหาคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวถึงกรณีลูกพะยูนเกยตื้นที่บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ ที่ตายหลังจากนำมาอนุบาลว่า ตนได้ติดตามข่าวสารและอัพเดทอาการของลูกพะยูนที่เกยตื้นมาโดยตลอด แต่พอได้ทราบรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าลูกพะยูนได้จากไปแล้ว ตนรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้ทีมงานสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทุกคน ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาลูกพะยูนตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับ “พะยูน” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2562 การจากไปของลูกพะยูนในวันนี้ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในประเทศที่ต้องตระหนักและร่วมมือร่วมใจกันปกป้อง คุ้มครอง ดูแลพะยูนและแหล่งอาหารรวมถึงที่อยู่อาศัยของพะยูน อยากให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า “การอนุรักษ์พะยูนไม่เพียงแค่เป็นการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องรักษาบ้านของพะยูนซึ่งหมายถึงแหล่งหญ้าทะเลด้วย และเมื่อใดมีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ ย่อมหมายถึงการมีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน มีทะเลที่สมบูรณ์” ดังนั้นมิติของการอนุรักษ์พะยูนจึงเป็นการรักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด รวมถึงสานต่อแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติระยะที่ 2 ด้วยการเพิ่มโครงการศึกษาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล อีกทั้งใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผน การติดตามสถานภาพเฝ้าระวัง ศึกษาพฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย ถึงแม้วันนี้ พะยูนน้อยจะจากพวกเราไปแล้ว แต่เราไม่ได้สูญเสียพวกเขาไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาได้ทิ้งองค์ความรู้ในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก พร้อมปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนหันมาใส่ใจในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งยังมีพะยูนอีกหลายร้อยชีวิตในท้องทะเลไทยที่ต้องการให้พวกเราช่วยกันปกป้องและคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 67 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ว่ามีนักท่องเที่ยวพบลูกพะยูนมีชีวิตว่ายน้ำเพียงลำพัง บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนางง จ.กระบี่ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าลูกพะยูนตัวดังกล่าวมีปัญหาการทรงตัวและพลัดหลงจากแม่ จึงจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทางเจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงได้ประสานงานกับทางอุทยานฯ ในการเข้าพื้นที่ช่วยเหลือเบื้องต้นและขนย้ายมายังที่ทำการอุทยานฯ การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเป็นพะยูนเพศผู้ วัยเด็ก คาดว่าอายุประมาณ 2-4 เดือน มีความยาว 102 ซม. น้ำหนัก 13.8 กก. จากการตรวจร่างกายพบว่าพะยูนอ่อนแรงแต่ยังสามารถขึ้นหายใจได้ พบรอยขีดข่วนบริเวณส่วนจมูกและหัวเล็กน้อย ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายขุ่นและตาจมลึกซึ่งแสดงว่าพะยูนมี ภาวะขาดน้ำ เสียงปอดชื้นเล็กน้อย ลำไส้มีการบีบตัว และพะยูนยังมีความอยากอาหารอยู่ เจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงขนย้ายพะยูนตัวดังกล่าวมาอนุบาลสระน้ำขนาดความจุน้ำ 50 ตัน ที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีค่ากลูโคสในกระแสเลือดต่ำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นสัตวแพทย์ได้มีการป้อนนมทดแทนและน้ำเพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและทางสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และปรับสัดส่วนของอาหารทดแทนนม เพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการโภชนาการของลูกพะยูน โดยให้นมทดแทนสำหรับลูกสัตว์และอิเล็กโทรไลด์ทางการสอดท่อทุก 3-4 ชั่วโมง
ต่อมาวันที่ 27 ส.ค. 67 ลูกพะยูนแสดงอาการซึม ลอยตัวนิ่ง เวลา 21.30 น. ลูกพะยูนแสดงอาการหายใจถี่ขึ้น มีอาการหายใจลำบาก และจมตัวลงพื้นบ่อไม่สามารถทรงตัวได้ ทีมสัตวแพทย์จึงรีบพยุงตัวสัตว์ขึ้นเหนือน้ำ และติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อัตราการหายใจเฉลี่ย 15-20 ครั้งต่อ 5 นาที การหายใจถี่และสั้น จึงให้ออกซิเจนและยากระตุ้นการหายใจ วัดหัวใจเต้นเบาลง ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้พบว่ามีการเคลื่อนไหวช้าลง ตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดพบว่า 21 mg/dl บ่งบอกว่าลูกพะยูนพบน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติอย่างรุนแรง จึงได้ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดและทางการป้อนยาลดปวดเพื่อพยุงอาการ จนกระทั่งเวลา 06.18 น. ของวันที่ 28 ส.ค.67 สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ตนได้รับแจ้งจากทีมสัตวแพทย์ว่าลูกพะยูนได้จากพวกเราไปแล้ว โดยทีมสัตวแพทย์ได้รายงานผลชันสูตรการตายของลูกพะยูนว่า น้องมีอาการชักเกร็ง สีเยื่อเมือกซีด หายใจช้าลงผิดปกติ การเต้นของหัวใจเบาลงและการตอบสนองช้าลง จนหยุดนิ่งและเสียชีวิตในที่สุด จากการชันสูตรซากลูกพะยูนพบว่าเนื้อเยื่อปอดมีเลือดคั่ง และพบลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดลมและแขนงหลอดลมปริมาณมาก บริเวณผนังช่องท้องพบลิ่มเลือดกระจายเป็นหย่อมๆ ส่วนของทางเดินอาหารพบปื้นเลือดออกบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเล็กน้อย สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตายตามธรรมชาติเนื่องจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว