กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จับมือสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่วมกันกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2567 มีการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ ทั้งหมด 612,603 เรื่อง โดย 3 อันดับแรกคือ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 296,042 เรื่อง รองลงมา หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานฯ 82,162 เรื่อง และหลอกให้กู้เงิน 63,878 เรื่อง ดังนั้น เพื่อยกระดับความร่วมมือในการป้องกันการหลอกลวงทางไซเบอร์ กรม สบส. จึงร่วมกับ สกมช ในการสร้างองค์ความรู้สู่ประชาชน ผ่านเครือข่าย อสม. จำนวน1,075,163 คน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้สามารถรู้เท่าทันกลลวง มีภูมิคุ้มกันด้านไซเบอร์ ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และเมื่อ อสม.มีความรู้ความเข้าใจ ก็จะสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัวและชุมชนได้ กรม สบส. จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้จากคุกคามทางไซเบอร์ เกิดทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน