สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 26-30 ส.ค. 62 และคาดการณ์วันที่ 2-6 ก.ย. 62 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 2630 ส.ค. 62 และคาดการณ์วันที่ 26 ก.ย. 62 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ตารางราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ [เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ]
น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป
เบรนท์
(ICE Brent)
เวสท์เท็กซัสฯ
(NYMEX WTI)
ดูไบ (Dubai) เบนซิน
ออกเทน  95
ดีเซล
ราคา 59.81 55.23 58.91 69.78 74.90
เปลี่ยนแปลง -0.06 -0.28 -0.55 -0.25 -0.36

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความร้อนแรง ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่าอาจมีการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จำนวน 5,078 รายการ มูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 5% และ 10% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 62 และ 15 ธ.ค. 62 และกระทบการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ต้องเสียภาษีนำเข้า 5% ให้รัฐบาลจีน ทำให้ราคานำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มายังจีน สูงขึ้นประมาณ      3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ทั้งนี้การขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองฝ่ายส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลงกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก
  • โรงกลั่น Sinopec ของจีนซึ่งจะนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย.-ต.ค. 62 ปริมาณรวม 8 ล้านบาร์เรล กำหนดส่งมอบที่ท่า Tianjin ติดต่อขอยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าจากรัฐบาล ทั้งนี้โรงกลั่นจีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ และนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งอื่น อาทิแอฟริกาตะวันตก (WAF) ทดแทน
  • ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ระบุว่าตนพร้อมเจรจากับประธานาธิบดีอิหร่าน ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย Emmanuel Macron กล่าวในการแถลงข่าวการประชุม G7 ว่าฝรั่งเศสเป็นคนกลางจัดการประชุมระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน เพื่อเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ทำให้นักลงทุนประเมินว่าอิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันดิบอีกครั้งหากการเจรจาคืบหน้า
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • สถานการณ์การผลิต และส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากบริษัท EPIC Midstream Holdings LLC และบริษัท Plains All American Pipeline LP เริ่มดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบสองเส้นใหม่ (กำลังการขนส่งรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากแหล่งผลิต Permian ไปยังชายฝั่งสหรัฐฯ บริเวณ Corpus Christi มลรัฐ Texas ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนั้น บริษัท Phillips 66 จะเปิดทำการท่อขนส่งน้ำมัน Gray Oak (กำลังการกลั่น 900,000 บาร์เรลต่อวัน) ภายในสิ้นปีนี้
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 20,049 สัญญา มาอยู่ที่ 197,055 สัญญา

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก                                                               

  • Reuters รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard (กำลังการผลิต 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ในทะเลเหนือของสหราชอาณาจักรมีแผนปิดซ่อมบำรุงในสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย. 62 ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ Forties ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำมันดิบอ้างอิงของทะเลเหนือลดลง
  • Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของ OPEC+ รายงานระดับความร่วมมือการลดกำลังการผลิตจากเป้าหมาย (Compliance) ของ OPEC+ ในเดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 159% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี นอกจากนี้ JMMC คาดว่าปริมาณสำรองน้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562 จะลดลงจาก Compliance ของ OPEC+ ทั้งนี้ JMMC จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 12 ก.ย. 62 ที่กรุง Abu Dhabi ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10 ล้านบาร์เรล ลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 มาอยู่ที่ 427.8 ล้านบาร์เรล และลดลงมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน  1 ล้านบาร์เรล
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,951 สัญญา มาอยู่ที่ 228,449 สัญญา
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12 แท่น มาอยู่ที่ 742 แท่น

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันเฉลี่ยลดลงจาก National Hurricane Center ของสหรัฐฯ แจ้งว่า Hurricane Dorian ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ 5 ขณะพัดผ่านเกาะ Bahamas จะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของสหรัฐฯ และน่าจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันบริเวณรัฐ Florida, South Carolina, North Carolina, Georgia และ Alabama ประกอบกับ Reuters คาดว่า OPEC ผลิตน้ำมันในเดือน ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 29.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน      จากไนจีเรียและอิรักผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน โดยวันที่ 1 ก.ย. 62 สหรัฐฯ และจีนต่างเดินหน้าใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมระหว่างกัน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษี 15% จากสินค้าจีน เช่น Smart Watch, รองเท้า และ  ทีวีจอแบน มูลค่าประมาณ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่จีนได้เริ่มเก็บภาษี 5% จากน้ำมันดิบนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.50-62.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 54.00-57.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.50-61.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากกรมศุลกากร (General Administration of Customs : GAC) ของจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน  ในเดือน ก.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 51 %    อยู่ที่ระดับ 420,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 4 เดือน ประกอบกับโรงกลั่น Miro (กำลังการกลั่น 320,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนีเตรียมกลับมาเดินเครื่องหน่วย Fluid Catalytic Cracker (FCC: กำลังการกลั่น 91,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งปิดดำเนินการฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 62 และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 710,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.27 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Talin  (กำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ CPC Corp.  ของไต้หวันประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันเบนซิน  92 RON ในเดือน ก.ย.- ต.ค. 62 เพราะหน่วย RFCC (กำลังการกลั่น 80,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.- 31 ต.ค. 62 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน  2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 232 ล้านบาร์เรล  ต่ำสุดในรอบ  4 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.50-72.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงโดยถูกกดดันจากแรงขายของอินเดีย รัสเซีย และไต้หวัน ประกอบกับ GAC รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนในเดือน ก.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7 % อยู่ที่ระดับ 379,000 บาร์เรลต่อวัน GAC รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีน ที่ไม่รวมการเก็บสำรอง (Apparent Diesel Demand)  เดือน ก.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 149,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Korea National Oil Corp. (KNOC) ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซล ในเดือน ก.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 1.5% มาอยู่ที่ 14.18 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.21 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.25 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบ 2 เดือน  อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรของเวียดนามรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดีเซล ในวันที่ 1-15 ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30% อยู่ที่ระดับ 1.9 ล้านบาร์เรล  เพราะโรงกลั่น Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย. 62 และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 136.1 ล้านบาร์เรล  ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์  ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.50-77.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

—————————————————–

โทรศัพท์  0-2537-3197,02-537-3365   ฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.

2 กันยายน 2562