สศท. อวดงานคราฟต์คนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์จากองค์ความรู้งานหัตถกรรม สู่ผลงานร่วมสมัยเอาใจคราฟต์เตอร์

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. นำงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยจากฝีมือคนรุ่นใหม่ เอาใจคราฟต์เตอร์สายกราฟฟิตี้ โชว์ผลงาน “ลงรักปิดทองผสานงานเพนต์ลายสเก็ตบอร์ด” ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่ผสมผสานมรดกทางภูมิปัญญา องค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรม และความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายแรงบันดาลใจ เผยให้เห็นงานศิลปหัตถกรรมในมุมมองที่แตกต่าง สามารถเชื่อมโยงศิลปะและหัตถกรรมได้อย่างลงตัว อวดสายตาในงาน Crafts Bangkok 2024 วันนี้ – 28 สิงหาคมนี้ ที่ฮอลล์ 98 – 99 ไบเทค บางนา

ผลงาน “ลงรักปิดทองผสานงานเพนต์ลายสเก็ตบอร์ด” สร้างสรรค์โดย นายนพดล คำคง ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่” (New Young Craft) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของ สศท. ที่มุ่งเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ในงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อค้นหาคนรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ที่มีความสามารถ ที่สืบสานเพื่อรักษาคุณค่าภูมิปัญญาไทยให้ยังคงอยู่คู่สังคม ผ่านผลงานที่รูปแบบที่มีความร่วมสมัยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานผ่านการพัฒนาและสร้างสรรค์สู่ความร่วมสมัย

นายนพดล คำคง ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่ เปิดเผยว่า กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน เกิดจากความรักและชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรม “ลงรักปิดทอง” ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของช่างฝีมือไทยที่น่าภาคภูมิใจ ผสมผสานความชื่นชอบ “สิงห์มอม” สัตว์หิมพานต์ รูปร่างคล้ายแมว ลูกเสือ ลูกสิงโต เป็นสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของชาวล้านนา ซึ่งมักจะปรากฏเป็นลวดลาย หรือรูปปั้นตามซุ้มประตูวัด จึงได้นำเอาความชอบจาก 3 อย่าง ซึ่งก็คือกรรมวิธีลงรักปิดทอง และตัวสิงห์มอม นำมาสู่การสร้างสรรค์เป็นสเก็ตบอร์ด กีฬาที่ชื่นชอบ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ที่อยากส่งต่อความสวยงามในงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถเข้าไปอยู่ในชิ้นงานที่กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ และได้เห็นคุณค่าของงานไทย ๆ ไปด้วยกัน โดยกรรมวิธีการลงรักปิดทองนั้น ได้ทำตามอย่างวิธีดั้งเดิมคือการนำยางรักมาทาบนพื้นผิวของสเก็ตบอร์ด จากนั้นค่อย ๆ ปิดทับด้วยทองคำเปลว จึงจะเห็นได้ว่าตัวชิ้นงานจะสะท้อนความแวววาวของการลงรักปิดทองออกมา จากนั้นจึงทำการแต่งแต้มลวดลายโดยใช้ทักษะทางด้านงานศิลปะซึ่งก็คือการเพนต์มาผสมผสาน โดยสร้างสรรค์เป็นลวดลาย “สิงห์มอม” และมีการใช้ลายเส้นของลายไทยมาปรับประยุกต์ให้ชิ้นงานมีความเท่ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ควบคู่ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ สศท. จะมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ “ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่” (New Young Craft) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เกิดความรัก และร่วมสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย ในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ภายในงาน Crafts Bangkok 2024 ฮอลล์ 98 – 99 ไบเทค บางนา