กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ชุดทดสอบสารพาราควอดตกค้างในผักและผลไม้สด” ให้เอกชนผลิตจำหน่ายให้กับประชาชน และหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าถึงชุดทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้น

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบอิมมูโนโครมาโตกราฟี สำหรับตรวจหาสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ บริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (ไทยแลนต์) จำกัด โดยมี นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นางวิชาดา จงมีวาสนา ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายนิรันดร์ ตั้งกิจวาระฐี กรรมการ บริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมลงนาม และมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่าย เป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนทบุรี

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะที่เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในงานเฝ้าระวังสุขภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากพาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้พัฒนาชุดทดสอบสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ด้วยเทคนิคอิมมูโนโครมาโตกราฟี เป็นวิธีการตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้นที่มีความถูกต้องแม่นยำ และทราบผลภายใน 30 นาที สำหรับนำไปตรวจคัดกรองผักและผลไม้สด ที่มีการจำหน่ายและนำเข้าประเทศไทย

สำหรับชุดสอบนี้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทางอิมมูโนโครมาโตกราฟี (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี และแอนติเจนแบบแข่งขัน (Compettive immunoassay) เป็นวิธีที่สะดวก มีประสิทธิภาพมีความไวในการตรวจสอบ และไม่ต้องใช้เครื่องพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งมีลักษณะการใช้งานคล้ายกับชุดตรวจโรคโควิด 19 หรือ ATK ใช้งานง่าย ประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลการตรวจของชุดทดสอบกับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ พบว่า ชุดทดสอบมีความจำเพาะเจาะจง 100% ความไว92.5% ความแม่นยำ 95% ความเที่ยง 100% และมีเกณฑ์การวัดขั้นต่ำสุดที่สามารถตรวจพบได้ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) ซึ่งตรงตามระดับที่กฎหมายกำหนด ชุดทดสอบนี้ผ่านการทดสอบภาคสนาม และจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความห่วงใยใส่ใจผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับบริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ด้วยเทคนิคอิมมูโนโครมาโตกราฟี ให้บริษัทสามารถผลิตเผยแพร่ชุดทดสอบและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนเข้าถึงได้ง่ายผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ สามารถนำไปใช้ตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้น สร้างความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยของผักและผลไม้สดที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดของประเทศ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว