วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) เป็นประธานเปิดโครงการจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ และประชุมรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อกรอบแนวคิด ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว โดยมี นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รอง ผอ.สคทช. ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ” พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 70 คน เข้าร่วมโครงการฯ ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ดร.รวีวรรณฯ ผอ.สคทช. กล่าวว่า สคทช. มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยมาตรา 10 (7) กำหนดให้ คทช. มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ คทช. จึงได้กำหนดให้มีโครงการปรับปรุงแผนที่ แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนมาตรฐานของแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยไม่ทับซ้อนกัน สามารถนำไปกำหนดเป็นแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบบูรณาการได้ในอนาคต ภายใต้กรอบแนวคิด “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ (One Land, One Law)” โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็นทั้งสิ้น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด ในการดำเนินการโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ จำนวน 10 ข้อ ตามที่ สคทช. เสนอ จึงเป็นที่มาของโครงการจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ ในครั้งนี้
ผอ.สคทช. กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ จะนำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการฯ และนำเสนอกรอบแนวคิด “การจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ที่ประชุมร่วมแสดงความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกท่านจะได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกับแนวเขตที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหรือมีการเข้าครอบครองประโยชน์อยู่ สำหรับใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเดียวกัน โดย สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรมต่อไป
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ท. กรมแผนที่ทหาร กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมการปกครอง และกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ