กรม สบส. สืบสานโครงการพระราชดำริ “สุขศาลาพระราชทาน” จัดติวเข้มเติมองค์ความรู้ครูพยาบาล สร้างที่พึ่งด้านสุขภาพแก่ประชาชน

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) สืบสานโครงการพระราชดำริ “สุขศาลาพระราชทาน” จัดติวเข้มเติมองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพครูพยาบาล เจ้าหน้าที่ และเครือข่าย 13 แห่ง ในเขตภาคเหนือ สร้างบุคลากรคุณภาพที่สามารถสร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า กรม สบส.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วไทยให้ดีพร้อมในทุกด้าน ตามพระราชปณิธานของกรมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มุ่งหวังให้พสกนิกรผู้ยากไร้ในพื้นที่ทุรกันดารมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการพัฒนาหน่วยพยาบาลให้เป็น “สุขศาลาพระราชทาน” ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดน หรือพื้นที่เสี่ยงภัยต่อความมั่นคง สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง

ดังนั้น กรม สบส. โดยศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 และ 2 จึงมุ่งเน้นความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพครูพยาบาล เจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทานและเครือข่าย ผ่านการจัดอบรมทบทวน และฟื้นฟูองค์ความรู้ในการให้บริการด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาที่สมเหตุสมผล การช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การสอนสุขศึกษา และการสร้างสุขภาพดีในชุมชนและโรงเรียน เป็นต้น พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วย ครูพยาบาล เจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน และผู้รับผิดชอบงานสุขศาลาพระราชทาน 13 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพที่สามารถเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพแก่นักเรียนและประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

ด้าน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สุขศาลาพระราชทาน ทั้ง 13 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และเป็นพื้นที่พิเศษด้านความมั่นคง ทำให้ประชาชนเดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินด้วยความยากลำบาก ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูพยาบาล และเจ้าหน้าที่ จะต้องมีความรู้ ทักษะการให้บริการรักษาพยาบาล การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิตเบื้องต้น และการส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ สามารถดูแลช่วยชีวิตเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินได้ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น และยังส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้

ซึ่งในปัจจุบันมีสุขศาลาพระราชทานจำนวน 26 แห่ง และได้รับพระราชทานให้จัดตั้งเพิ่มอีก 1 แห่ง คือสุขศาลาพระราชทานบ้านสบโขง ต.สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รวมทั้งหมด 27 แห่ง โดยในปี 2567 กรมได้พัฒนาให้ผ่านการรับรองคุณภาพตามเกณฑ์ครบทุกแห่ง 26 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมสุขศาลาพระราชทานให้เป็น “ชุมชนสุขศาลาพระราชทานสุขภาพดี” จำนวน 8 แห่ง