อธิบดีประมง ลั่น! ใครครอบครองปลาหมอคางดำนอกพื้นที่แพร่ระบาด โทษหนัก…จับ จำคุก ปรับจริง 1–2 ล้านบาท

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) ในแหล่งน้ำสาธารณะและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมือง ระบบนิเวศแหล่งน้ำ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพ ด้านประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และรุกรานแก่งแย่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีความทนทานปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564  โดย “ปลาหมอคางดำ” เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่ถูกระบุไว้ในประกาศทั้ง 2 ฉบับ แต่ปัจจุบันพบแพร่ระบาดในพื้นที่ 19 จังหวัด เกิดจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2567

โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามมิให้บุคคลมีไว้ในครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำมีชีวิตนอกพื้นที่การแพร่ระบาด ตามที่อธิบดีกรมประมงประกาศกำหนด ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ประกาศเป็นเขตพื้นที่ระบาดทั้งหมด 19 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 76 อำเภอ/เขต ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และปราจีนบุรี  ส่วนปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต สามารถนำออกนอกพื้นที่ได้ แต่มีข้อกำหนดตามประกาศ ดังนี้

1. กรณีมีการครอบครองโดยการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต มีลักษณะและแนวทางปฏิบัติ ได้แก่

1.1 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง ต้องใส่ในภาชนะบรรจุมิดชิด โดยอาจบรรจุปลาลงในถุงหรือวัสดุอื่นเพื่อป้องกันไข่ปลาสัมผัสกับน้ำ แล้ววางในภาชนะอีกชั้นหนึ่ง เช่น การบรรจุปลาลงในถุงแล้วใส่ลงกล่องโฟม หรือถังน้ำแข็ง เป็นต้น หลังจากนั้นให้ใส่น้ำแข็งให้เต็มภาชนะเพื่อให้ปลาตายสนิท ก่อนนำออกนอกพื้นที่แพร่ระบาด

1.2 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่แข็ง โดยอาจจะบรรจุปลาลงในถุงแล้วนำไปแช่แข็งเพื่อให้ปลาตายสนิท ก่อนนำออกนอกพื้นที่แพร่ระบาด

1.3 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแปรรูปเบื้องต้นแล้ว เช่น การตัดหัว ควักไส้ แล่เป็นชิ้น หมักเกลือ เป็นต้น ทั้งนี้ เศษซากของปลาที่เหลือทิ้งจากการแปรรูปห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำทิ้ง และต้องมีการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ปลาหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ เช่น นำไปทำปุ๋ยชีวภาพ นำไปต้มทำอาหารสัตว์ เป็นต้น

2. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาป่น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้งและอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด โดยต้องมีภาชนะรองรับซากปลา เช่น ผ้าใบ ถังพลาสติก เป็นต้น เมื่อนำซากปลาใส่ลงในภาชนะแล้ว ต้องมีการปิดภาชนะให้มิดชิด เช่น คลุมทับด้วยผ้าใบหรือพลาสติก เพื่อป้องกันเศษซากร่วงหล่นในระหว่างการเคลื่อนย้าย

3. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตามโครงการของรัฐ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น โดยต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด โดยอาจมีภาชนะรองรับซากปลา เช่น ผ้าใบ ถังพลาสติก และเมื่อนำซากปลาใส่ลงในภาชนะแล้วต้องปิดภาชนะให้มิดชิด เช่น คลุมทับด้วยผ้าใบหรือผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันเศษซากร่วงหล่นในระหว่างการเคลื่อนย้าย

4. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตที่กระทำโดยทางราชการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดออกจากที่จับสัตว์น้ำ หน่วยงานราชการที่ดำเนินการต้องทำให้ปลาตายสนิทและบรรจุซากใส่ในภาชนะก่อนเคลื่อนย้ายซากไปทำลาย

ทั้งนี้ การล้างอุปกรณ์ ภาชนะ รวมไปถึงพาหนะในการขนส่งปลา ห้ามเทน้ำล้างอุปกรณ์ลงในแหล่งน้ำและท่อน้ำทิ้งสาธารณะ เนื่องจากไข่ปลาหมอคางดำอาจติดมาและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำอื่นได้

ประกาศดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 16 สิงหาคม 2567) ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าหากนำปลาหมอคางดำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อป้องกันการกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นปลาหมอคางดำ ขอให้รีบแจ้งมายังสำนักงานประมงจังหวัดหรือหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่