วธ. จัดอบรมสอน “แทงหยวก” ฝึกทักษะเพิ่มความชำนาญ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองพิธีการศพ ที่ได้รับพระราชทานได้ปฏิบัติงานสนองพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติได้รับเกียรติอันสูงยิ่งในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตอย่างทั่วถึงทั่วประเทศตามพระบรมราโชบาย ซึ่ง วธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการฝึกอบรมเพื่อฝึกทักษะ พัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มความชำนาญงาน ในด้านต่างๆ อาทิ การซ่อมแซมเครื่องประกอบเกียรติยศ การฝึกทบทวนการปฏิบัติงานพิธีให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี เพื่อปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานส่วนกลางกำหนดให้กลุ่มอำนวยการพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาคกำหนดให้กลุ่มอำนวยการพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานที่ 1 – 15 เป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยการ ประสานงานและปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของสำนักพระราชวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานที่ได้รับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพ โกศโถ หรือโกศแปดเหลี่ยม การแทงหยวก ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เนื่องด้วยในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องเกียรติยศชั้นโกศโถและ โกศแปดเหลี่ยม กำหนดให้มีการแทงหยวกประดับจิตกาธานให้แก่ผู้วายชนม์ผู้ได้รับพระราชทาน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแทงหยวกจึงจำเป็นต้องมีทักษะและความชำนาญในการแทงหยวก เพื่อให้เกิดความสวยงามและถูกต้อง ตามแบบที่กำหนดไว้

“การฝึกอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2567 ณ ศาลาแทงหยวก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีฯ จำนวน 48 คนจากกลุ่มอำนวยการพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานที่ 1 – 15 และกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่ง วธ.ขอบคุณวิทยากรจาก กองศิลปกรรม กรมสนับสนุน สำนักพระราชวังที่ได้สละเวลามาเป็นวิทยากรในฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมภาคทฤษฎี หัวข้อ พื้นฐานการแทงหยวก และการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน และการฝึกภาคปฏิบัติ การแทงหยวกประดับจิตกาธานชั้นรัดเกล้า การแทงหยวกประดับจิตกาธานชั้นเรือนไฟและ การฝึกปฏิบัติการประกอบจิตกาธาน เป็นต้น” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

อย่างไรก็ตาม หวังว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพิธีฯ ที่เข้าอบรมครั้งนี้จะได้พัฒนาทักษะของตนเองให้เกิดความชำนาญและนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ผลงานออกมาถูกต้องสวยงามตามรูปแบบที่กำหนด และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เพื่อนร่วมงานได้อีกด้วย