กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) โดยความร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ประจำปี 2567 เพิ่มศักยภาพการตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ การตรวจวัดระดับเสียงจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานของ บก.จร. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 – 16 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดี คพ.และโฆษก คพ. กล่าวว่า รถยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตรวจพบรถยนต์มีมลพิษหรือเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนำรถไปแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์อุปกรณ์เพื่อให้ควันดำหรือระดับเสียง มีค่าไม่เกินมาตรฐาน และต้องนำรถมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากไม่ได้นำรถกลับมาตรวจสอบภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ถูกคำสั่ง ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 65 มีโทษตามมาตรา 102 ปรับไม่เกินห้าพันบาท
นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการ มว. กล่าวว่า สถาบันมีการพัฒนาเครื่องมือและซอฟต์แวร์ เครื่องตรวจวัดระดับเสียงจากยานพาหนะ และนำมาใช้งานจริง เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบตรวจวัดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถวิเคราะห์ ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับของข้อมูลที่ตรวจวัดได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาในเชิงพาณิชย์
พ.ต.ท.ดาราธร ขจรศิลป์ รองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนเรื่องรถยนต์และจักรยานยนต์แต่งซิ่ง ดัดแปลงสภาพ ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับประชาชน จึงเพิ่มความเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมาย ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ตั้งจุดกวดขันจับกุมบริเวณที่มีการร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องวัดระดับเสียงจากยานพาหนะที่ มว. พัฒนาขึ้น สามารถอ่านค่าระดับเสียงแบบอัตโนมัติตามรอบของเครื่องยนต์ของรถแต่ละคันตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความโปร่งใส เป็นธรรม และลดข้อโต้แย้งในการปฏิบัติ ผลการจับกุมรถที่มีค่าเสียงเกินเกณฑ์ที่กำหนด ระหว่างเดือนมิถุนายน 2567 ถึงปัจจุบัน จับกุมรถยนต์ 19 คัน รถจักรยานยนต์ 225 คัน ซึ่งมีความผิดตาม พรบ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 อัตราโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท และเจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งห้ามใช้รถชั่วคราว ติดสติ๊กเกอร์เครื่องหมายคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวไว้ที่ตัวรถ ให้นำไปปรับปรุงแก้ไขท่อไอเสีย จากจำนวน ที่จับกุม 244 คัน แก้ไขแล้ว 115 คัน (ร้อยละ 47) ผลจากการปฏิบัติ ทำให้ลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเหตุได้ที่ สายด่วน 191 หรือ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นางกัญชลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ คพ. มีการบูรณาการร่วมกับ บก.จร. กรมการขนส่งทางบก และ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรียกรถตรวจสอบทั้งหมด 103,349 คัน เป็นรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก จำนวน 54,949 คัน และรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ จำนวน 48,400 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินมาตรฐานและออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ จำนวน 1,023 คัน แก้ไขแล้ว 514 คัน (ร้อยละ 50) ในพื้นที่ต่างจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัด ตรวจทั้งหมด 79,809 คัน เป็นรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก จำนวน 74,441 คัน และรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ จำนวน 5,368 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินมาตรฐานและออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ จำนวน 1,333 คัน แก้ไขแล้ว 921 คัน (ร้อยละ 69)